- หน้าหลัก
- ข่าวประกาศ
- บทความประชาสัมพันธ์
- ข่าวและกิจกรรม
- บทความประชาสัมพันธ์
- เปิดใจเยาวชนไทยรางวัลสร้างสรรค์โครงงานสะเต็มศึกษาจาก สสวท.
เปิดใจเยาวชนไทยรางวัลสร้างสรรค์โครงงานสะเต็มศึกษาจาก สสวท.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดการประกวดโครงงานสะเต็มศึกษา รอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมรอแยลเบญจา สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อคัดเลือกโครงงานที่เหมาะสมให้เป็นตัวอย่างในการจัดทำโครงงานสะเต็มศึกษาให้แก่โรงเรียนอื่นที่สนใจ และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่ชนะการประกวดโครงงานสะเต็มศึกษา ซึ่งผลการตัดสินปรากฏว่า
ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วย รองชนะเลิศอันดับ 1 โครงงาน ไม้ซ่าส์ล่าขยะของโรงเรียนอนุบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงงานซุปเปอร์ถังขยะ โรงเรียนวัดเดิมเจ้า (อรรถประชานุเคราะห์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลชมเชย โครงงาน pencil light sensor ของโรงเรียนบ้านหนองหญ้าวัว จังหวัดบุรีรัมย์
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงงาน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เยื่อไมยราบยักษ์ต่อการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ของโรงเรียนเซนต์นิโกลาส จังหวัดพิษณุโลก รางวัลชมเชยประกอบด้วย โครงงานเปลี่ยนสวะให้เป็นดิน ของโรงเรียนวัดดอนหวาย (นครรัฐประสาท) จังหวัดนครปฐม โครงงานอัศจรรย์และศิลป์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดินแดนใต้ โรงเรียนควนเนียงวิทยา จังหวัดสงขลา โครงงานระบบป้องกันการโจรกรรมรถจักรยานยนต์อัตโนมัติ โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โครงงานระบบเกษตรอัจฉริยะ โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และโครงงานหมาล่า (ใบไม้) โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วย รองชนะเลิศอันดับ 1 โครงงานแผนกระตุ้นการสร้างพรอพอลิสของชันโรงพัฒนาจากการศึกษาพฤติกรรมการซ่อมรังของโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลชมเชยประกอบด้วย โครงงานการประยุกต์ชีวมวลธูปฤาษีในการผลิตถ่านอัดแท่งเพื่อทดแทนการใช้ไม้จากธรรมชาติและลดแก๊สพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ โรงเรียนสารคามพิทยา จังหวัดมหาสารคาม โครงงานการพัฒนานวัตกรรมการผลิตสารให้พลังงานจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จังหวัดกรุงเทพมหานคร โครงงานเครื่องดูแลพืช 4.0 โงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี และ โครงงานผลิตภัณฑ์คอมโพสิตนาโนจากใยกล้วยและยางพารา โรงเรียนมาบอำมฤตวิทยา จังหวัดชุมพร
ตัวอย่างเช่น ระดับประถมศึกษา โครงงาน ไม้ซ่าส์ล่าขยะ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของโรงเรียนอนุบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี เกิดจากความหวังที่จะช่วยลดปริมาณขยะ จึงได้คิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มาช่วยในการเก็บขยะได้ง่าย สะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องนำมือไปสัมผัสกับขยะ
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โครงงานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เยื่อไมยราบยักษ์ต่อการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของโรงเรียนเซนต์นิโกลาส จังหวัดพิษณุโลก เป็นการสร้างสิ่งประดิษฐ์จากบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาจากเยื่อไมยราบยักษ์เคลือบด้วยน้ำหมักตะโกนา ที่มีความสามารถในการป้องกันความเสียหายของมะม่วงจากปัจจัยทางกายภาพ ชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีระหว่างกระบวนการเก็บรักษา ได้ดีกว่าห่อด้วยตะข่ายโฟม
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงงานแผนกระตุ้นการสร้างพรอพอลิสของชันโรงพัฒนาจากการศึกษาพฤติกรรมการซ่อมรัง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผ่นกระตุ้นการสร้างพรอพอลิสของชันโรงจากพฤติกรรมการซ่อมรัง โดยศึกษาจากพฤติกรรม เมื่อเกิดรอยตัดแผ่นพลาสติกรองฝาปิดรังเพาะเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมและวงกลม รวมทั้งหาตำแหน่งและจำนวนรอยตัดที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นการสร้างพรอพอลิส
ด.ญ. ปพิชญา แพทย์กลาง ด.ญ. พิชฌาย์กาญจน์ วิเชียรเทียม และ ด.ญ. พิชชา หิรัญรัตนพงศ์ โรงเรียนอนุบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี เจ้าของโครงงานไม้ซ่าส์ล่าขยะ รองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดโครงงานสะเต็มศึกษา ประจำปี 2560 ระดับประถมศึกษาของ สสวท. กล่าวว่า ความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ดีใจมาก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความต้องการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยในการเก็บขยะได้ง่าย สะดวกยิ่งขึ้นและไม่ต้องนำมือไปสัมผัสกับขยะ
การใช้งานมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ซี่เหล็กจับขยะ เหล็กเสียบ และแม่เหล็ก ส่วนที่ 1 วิธีการใช้ คือ ดึงท่อพีวีซีลง จะทำให้ซี่เหล็กจับขยะกางออก จากนั้นจึงดึงท่อพีวีซีขึ้น ซี่เหล็กจับขยะจะรวบขยะติดขึ้นมา เมื่อต้องการนำไปทิ้งให้นำท่อพีวีซีเลื่อนลงขยะก็จะตกลงในถังขยะ ส่วนที่ 2 คือเหล็กเสียบ วิธีการใช้คือ ดึงสลักเหล็กเสียบลง จากนั้นใช้เหล็กเสียบลงไปที่ขยะ และนำไปทิ้งขยะโดยดึงสลักเหล็กเสียบขึ้นขยะจะตกลงในถังขยะ ส่วนที่ 3 เป็นส่วนของแม่เหล็ก วิธีการคือดังสลักเหล็กเสียบลงจากนั้นใช้ตัวเหล็กเสียบดูดไปที่ขยะที่มีสารแม่เหล็กอยู่และนำไปทิ้งลงถังขยะ
ปัญหาอุปสรรคของการทำงานโครงนี้ ตอนแรกประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วไม่สามารถปฏิบัติงานได้ดีพอ เราจึงเพิ่มขนาดอุปกรณ์ พบข้อผิดพลาดในส่วนของกลไก และปรับปรุงไปเรื่อยๆ จนเป็นไม้ซ่าล่าขยะที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยแข็งแรงมากยิ่งขึ้น สำหรับคุณครูจะคอยเป็นผู้แนะนำผู้ช่วยลงมือในส่วนที่อาจอันตรายเกินไปสำหรับเด็ก
คุณครูที่ปรึกษา กล่าวว่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องแรงดึงแรงผลัก เทคโนโลยี คือ มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพื่อนำมาประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขา ในด้านการออกแบบ และหาวัสดุที่เข้ากับชิ้นงานของเด็กๆ รวมถึงกลไกที่ครูกับนักเรียนได้มีการเรียนรู้ไปพร้อมกัน คณิตศาสตร์ เรื่องของรูปแบบและรูปทรงต่างๆ ในการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังอยากฝากถึงทุกคนอีกด้วยว่า หากเราตั้งใจจะทำอะไรขอให้พยายามทำให้สำเร็จ อย่าไปยอมแพ้
ด.ญ.ภัทราวดี ชูศรี ด.ช.พิโมกข์ ทองคลอด และ ด.ญ.จิณณภัต เนตรนิติสกุล เจ้าของโครงงาน ซุปเปอร์ถังขยะ โรงเรียนวัดเดิมเจ้า (อรรถประชานุเคราะห์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดโครงงานสะเต็มศึกษา ระดับประถมศึกษาของ สสวท. เล่าว่า ซุปเปอร์ถังขยะมีวิธีการทำงาน คือ หากมีสิ่งมีชีวิตเดินผ่านหน้าเซ็นเซอร์จะมีเสียงเพลงดังขึ้น โดยมีลำโพงเป็นแหล่งกำเนิดเสียง เพื่อส่งเสียงเพลงเชิญชวนให้น้องๆ ทิ้งขยะลงถัง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากที่น้องๆ ในโรงเรียนไม่ค่อยทิ้งขยะลงถัง ส่วนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานมาจากแบตเตอรี่ที่จะต้องเปลี่ยนทุก 4 ชั่วโมง และลำโพงมีขนาดที่เล็กทำให้เสียงไม่ดังมากพอ
คุณครูที่ปรึกษา กล่าวว่า มีส่วนช่วยในการจัดลำดับขั้นตอนของกระบวนการการทำงาน โดยสะเต็มศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เด็กๆ ได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับประเภทขยะ เทคโนโลยีเกี่ยวกับวงจรการทำงานของอุปกรณ์ และการค้นหาข้อมูล ส่วนวิศวกรรมศาสตร์ ใช้ในขั้นตอนการสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นงานนี้ขึ้นมา รวมถึงคณิตศาสตร์ใช้ในการแปลผล นอกจากนี้ยังอยากฝากถึงทุกคนอีกด้วยว่า อยากให้ลองนำสะเต็มศึกษามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามกิจกรรมเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์ สะเต็มศึกษา ประเทศไทย ของ สสวท. http://www.stemedthailand.org