- หน้าหลัก
- ข่าวประกาศ
- บทความประชาสัมพันธ์
- ข่าวและกิจกรรม
- บทความประชาสัมพันธ์
- สสวท. หนุนงานวิจัยนวัตกรรมน้ำฝีมือเยาวชน สู่เวทีนานาชาติ
สสวท. หนุนงานวิจัยนวัตกรรมน้ำฝีมือเยาวชน สู่เวทีนานาชาติ
“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สวนจิตรลดา วันที่ 17 มี.ค. 2529
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค หรือน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งล้วนมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสิ้น แต่จะทำอย่างไรที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ หรือนำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร นั้น การรณรงค์ให้เกิดประหยัดการใช้น้ำและอนุรักษ์น้ำแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการประดิษฐ์ คิดค้น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ที่สามารถใช้ประโยชน์จริงในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในเวทีระดับนานาชาติ ได้มีการปลูกฝังตั้งแต่ระดับเยาวชน ให้รู้จักคิดค้น วิจัย และต่อยอดเป็นชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพสู่การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
ในส่วนของประเทศไทย ก็ได้มีการส่งเสริมให้มีการคิดค้น วิจัยนวัตกรรมน้ำเพื่ออนาคต โดยในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ได้มีการนำกระบวนการเรียนการสอนแบบ “สะเต็มศึกษา” เข้ามาช่วยให้นักเรียนมีกระบวนการคิด และหัดตั้งข้อสังเกตุจากสิ่งรอบตัว โดยมี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. หน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่ร่วมขับเคลื่อนให้เยาวชนไทย เป็นนักคิดแบบสะเต็ม [STEM : เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) ] และเข้ามามี ส่วนร่วมในการคิดค้นวิจัย นวัตกรรมน้ำเพื่ออนาคต ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมประกวดในระดับนานาชาติ
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท. ได้ขับเคลื่อนงานวิจัยคิดค้นนวัตกรรมน้ำแบบบูรณาการ จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ค่ายนวัตกรรมน้ำสู่งานวิจัย” สำหรับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 14–19 ปี และกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำและการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเค้าโครงงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการเกษตรกรรม การผลิตน้ำจืดที่ปลอดภัยเพื่อการอุปโภค หรือบริโภค การช่วยลดปัญหาความแห้งแล้งและน้ำท่วม การลดปริมาณน้ำทิ้งหรือนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ การดูแลรักษาแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน จำนวน 30 ผลงาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมการประกวดในระดับประเทศ “Thailand Junior Water Prize 2018” เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศเข้าร่วมการประกวด “Stockholm Junior Water Prize 2018” ในระดับนานาชาติ ซึ่งเชื่อว่า งานวิจัยที่เยาวชนประดิษฐ์ คิดค้น จะสามารถนำมาใช้ได้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
“ค่ายนวัตกรรมน้ำสู่งานวิจัย” เป็นค่ายที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงคำว่า “นวัตกรรม” เพิ่มมากขึ้น รวมถึงนักเรียนจะได้มีโอกาสร่วมแชร์ประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับ ประยุกต์เข้ากับผลงานวิจัยเพื่อพร้อมสู่การแข่งขัน “Stockholm Junior Water Prize 2018” ในระดับนานาชาติ ที่ประเทศไทยเคยได้มีโอกาสคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อประเมินจากการมีส่วนร่วมของเยาวชน จะพบว่า เด็กๆยังขาดประสบการณ์ในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ จึงทำให้ผลงานวิจัยที่ส่งเข้ามายังไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก การเข้าค่ายในครั้งนี้ จึงเข้าไปช่วยเติมเต็มความรู้ และประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
เด็กหญิงบุษยพรรณ กองพล นักเรียนชั้น ม. 3 จากโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ กล่าวว่า โรงเรียนได้ส่งผลงาน “การประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นกล้วยไม้” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากการสังเกตเห็นภารโรงในโรงเรียนรดน้ำกล้วยไม้แต่ละครั้งจะสิ้นเปลืองน้ำเป็นจำนวนมาก จึงคิดค้นวิธีว่า จะทำอย่างไรที่จะสามารถรดน้ำกล้วยไม้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด บนพื้นฐานการประหยัดน้ำมากที่สุด และก็ออกมาเป็นผลงานวิจัยดังกล่าว และในการเข้าค่ายครั้งนี้ สิ่งที่ได้กลับไปคือ การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองที่แปลกใหม่มากขึ้น รู้จักวิธีคิดที่หลายหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการเรียนได้
นางสาว จิลัดดา สารสิทธิ์ ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวว่า การจะสอนให้นักเรียนคิดค้นสร้างผลงานมา 1 ชิ้นได้นั้น ได้มีการนำเอาระบบการเรียนการสอนแบบ “สะเต็มศึกษา”มาปรับใช้ โดยเริ่มจากให้นักเรียนตั้งคำถามจากสิ่งรอบตัว สังเกตปัญหารอบตัวที่เกี่ยวกับการใช้น้ำ เมื่อเด็กๆ เกิดการสงสัย ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการคิดค้น ทดลอง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการแบบสะเต็มศึกษาแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ การได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ อย่างเช่นได้เข้ามาร่วมค่ายนวัตกรรมน้ำ ที่สสวท.จัดขึ้น ก็นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ และได้เทคนิควิธีการที่มีมากกว่าในตำรา รวมทั้งคุณครูเองก็ได้มีโอกาสศึกษา เทคนิควิธีการสอน เพื่อนำมาปรับใช้กับนักเรียนได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ งานวิจัยด้านการอนุรักษ์น้ำของนักเรียน จะเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อได้รับการนำมาประยุกต์ต่อยอด และนำมาใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเกิดกระบวนการคิด และมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาชุมชน และทำประโยชน์เพื่อสังคมจากความคิด และความสามารถ ที่น้องๆนักเรียนจะได้ซึมซับและถูกปลูกฝังในกระบวนการเรียนการสอน สู่การเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต