Open navigation
มาตรฐานการสร้างสื่อการเรียนการสอน สสวท.
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์หลักในการจัดทําเว็บไซต์มาตรฐานการสร้างสื่อการเรียนการสอน สสวท. เพื่อรวบรวมแนวทางปฏิบัติในการออกแบบและจัดทําสื่อการเรียนการสอนของ สสวท. ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึงการสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของ สสวท. ในการถ่ายทอดเนื้อหาในสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
คำชี้แจงการใช้งาน
  • เนื้อหาทั้งหมดในเว็บไซต์มาตรฐานการสร้างสื่อการเรียนการสอน สสวท. นี้ ให้ใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการออกแบบและจัดทําสื่อการเรียนการสอนของ สสวท. สำหรับบุคลากร สสวท. และบุคคลภายนอก
  • เนื้อหาและส่วนประกอบต่าง ๆ ในเว็บไซต์นี้ไม่อนุญาตให้นำไปดัดแปลง โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สสวท.
  • เนื้อหาและส่วนประกอบต่าง ๆ ในเว็บไซต์นี้อาจมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เป็นปัจจุบัน
ตราสัญลักษณ์ สสวท.
ตราสัญลักษณ์ สสวท. คือเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นสถาบันที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งมีภารกิจที่สําคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศในกลุ่มสาระการเรียนรู้สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิชาที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงต้องให้ความสําคัญและจําเป็นอย่างยิ่งในการจัดวางตราสัญลักษณ์ สสวท. ในสื่อต่าง ๆ ตามแนวทางที่กําหนดในคู่มือฉบับนี้อย่างเคร่งครัด
ดาวน์โหลดไฟล์ตราสัญลักษณ์ สสวท.
.png
.ai
สัดส่วนตราสัญลักษณ์ สสวท. และขนาดพื้นที่วางโดยรอบตราสัญลักษณ์
เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าของตราสัญลักษณ์ สสวท. จําเป็นที่จะต้องจัดวางตราสัญลักษณ์ในพื้นที่ที่ไม่มีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ภาพถ่าย ตัวอักษร หรือตราสัญลักษณ์อื่น ๆ มารบกวน โดยอย่างน้อยที่สุดจะต้องเว้นพื้นที่ว่างโดยรอบตราสัญลักษณ์ สสวท. ไม่น้อยกว่า ขนาด 2X หรือ 2 ใน 10 ส่วนของขนาดตราสัญลักษณ์ สสวท.
การรักษารูปทรงและสัดส่วนของตราสัญลักษณ์ สสวท.
เพื่อรักษาภาพจําและสร้างการรับรู้ถึงตราสัญลักษณ์อันเป็นหนึ่งเดียวของ สสวท. ห้าม ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน หมุน ย่อ หรือขยายตราสัญลักษณ์ สสวท. ให้มีรูปทรงหรือสัดส่วนผิดเพี้ยนไปจากเดิม
การใช้สีในตราสัญลักษณ์ สสวท. บนพื้นหลังแบบต่าง ๆ
การใช้สีในตราสัญลักษณ์ สสวท. ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ สีของพื้นหลัง รวมถึงรูปแบบและเทคนิคการพิมพ์ ซึ่งสามารถเลือกใช้งานตามความเหมาะสมดังนี้
1. สีอัตลักษณ์ของ สสวท.

สีที่เป็นอัตลักษณ์ของ สสวท. คือสีน้ําเงิน ที่มีค่าสีฟ้า (Cyan) C: 100 และสีแดง (Magenta) M: 65 หากพื้นหลังเป็นสีอ่อนหรือสีขาว และไม่มีภาพหรือรายละเอียดอื่นใดมารบกวนตราสัญลักษณ์ แนะนําให้ใช้สีที่ถูกต้องทุกครั้ง
2. การใช้ตราสัญลักษณ์เป็นสีขาวบนพื้นหลังสีเข้ม

ในกรณีที่จำเป็นจะต้องจัดวางตราสัญลักษณ์ สสวท. บนพื้นหลังสีเข้มหรือสีดำ สามารถกลับค่าสีของตราสัญลักษณ์เป็นสีขาวเพื่อความชัดเจน
3. การปูพื้นหลังตราสัญลักษณ์ด้วยสีอ่อนหรือสีเข้ม

ในกรณีที่พื้นหลังของตราสัญลักษณ์ที่ต้องการจัดวาง มีรายละเอียดอื่น ๆ รบกวนตราสัญลักษณ์ เช่น ต้องการวางตราสัญลักษณ์ลงบนพื้นหลังที่เป็นภาพถ่าย ให้ล้อมกรอบตราสัญลักษณ์ด้วยสีอ่อนหรือสีเข้ม แล้วเลือกพิมพ์ตราสัญลักษณ์ด้วยสีในหัวข้อที่ 1 หรือ 2 ตามความเหมาะสม
ข้อห้ามในการใช้ตราสัญลักษณ์ สสวท.

ห้ามบีบตราสัญลักษณ์ให้ผิดสัดส่วนไปจากเดิม

ห้ามยืดตราสัญลักษณ์ให้ผิดสัดส่วนไปจากเดิม

ห้ามหมุนตราสัญลักษณ์

ห้ามไล่สีตราสัญลักษณ์

ห้ามเปลี่ยนแบบตัวอักษร

ห้ามใส่เงาตราสัญลักษณ์

ห้ามใช้เทคนิคพิเศษเพื่อเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์

ห้ามใช้เทคนิคพิเศษเพื่อเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์

ห้ามวางตราสัญลักษณ์ลงบนพื้นหลังที่รบกวนการมองเห็น และไม่เหลือพื้นที่ว่างโดยรอบ

ห้ามใช้สีพื้นที่ใกล้เคียงกับสีตราสัญลักษณ์
การใช้สีประกอบตราสัญลักษณ์ สสวท. และข้อมูลรายการบนสื่อวีดิทัศน์
ตราสัญลักษณ์ สสวท. ในสื่อวีดิทัศน์ต้องจัดวางในรูปแบบที่แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากต้องวางอยู่บนพื้นหลังที่เป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอภาพที่มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของสีสัน แสงเงา และนํ้าหนักต่าง ๆ ของภาพ การสร้างระบบอัตลักษณ์สําหรับสื่อวีดิทัศน์จําเป็นจะต้องมีการใช้สีที่ถูกกําหนดไว้ เพื่อสร้างความแตกต่างและการจดจําให้กับผู้ชม
สีที่ใช้และรูปแบบการจัดวางตราสัญลักษณ์ของ สสวท. ในสื่อวีดิทัศน์มีรายละเอียดดังนี้
IPST Blue
Pantone 2935 C
C100 M65 Y0 K0
R0 G97 B175
Web #0060AE
IPST Magenta
C4.53 M97.4 Y0 K0
R231 G0 B149
Web #E70094
IPST Green
C74.97 M3.67 Y100 K0
R63 G174 B42
Web #3FAE29
IPST Black
C0 M0 Y0 K100
R35 G31 B32
Web #231F20
ข้อกำหนดในการจัดทำสื่อดิจิทัล
แอปพลิเคชัน (Application)
Mobile/Native Application, Web Application, Hybrid Application
  • การเลือกเทคโนโลยีในการพัฒนาสื่อ ไม่ว่า Native App, Web App หรือเทคโนโลยีใด ๆ ควรพิจารณาถึงลักษณะรูปแบบของเนื้อหา เป้าหมายการนำเสนอ ความสามารถของเทคโนโลยีที่จะใช้ในการปรับปรุงเนื้อหา หรือการอัพเดตเทคโนโลยี เพื่อที่จะได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงาน
  • หากเป็นไปได้ควรเลือกทำแบบ Native App เนื่องจากมีความเสถียรและใช้งานได้เร็วกว่า ซึ่ง Native App อาจจะมีข้อจำกัดในวิชาที่มีสัญลักษณ์ เช่น คณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์ จึงต้องปรับเป็นการใช้ Web App แทนเพราะสามารถนำระบบ Cloud มาใช้ในการประมวลผล และเทคโนโลยี HTML5 ก็สามารถรองรับการเขียนสัญลักษณ์คณิตศาสตร์ได้
  • Native App ไม่เหมาะสมกับการใช้กับเนื้อหาที่ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลบ่อย ๆ เนื่องจากต้องส่งข้อมูลให้กับ Apple Store/Google Play Store และยังต้องมีการอัพเดตให้เข้ากับเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการ iOS/Android
  • การทำสื่อที่เน้นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ควรเลือกใช้เทคโนโลยี AR
  • สำหรับสื่อที่เปิดผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เช่น E-book อาจทำจาก Web App หรือ free reader เพื่อเปิดกว้างในการอ่าน
  • ฟีเจอร์ที่รองรับการทำงานได้ดีในรูปแบบ Native App คือ Chatbot ในแอปพลิเคชัน Line
  • กำหนดให้อย่างน้อยควรใช้เว็บเบราว์เซอร์เปิด Google Chrome ได้เป็นพื้นฐานและควรพัฒนาภายใต้มาตรฐาน HTML5
รายละเอียดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม สามารถศึกษาจากอ้างอิงนี้ https://www.somkiat.cc/native-and-hybrid-app
สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับดิจิทัล
ไฟล์ PDF / Flipping Book / E-pub / E-book / ไฟล์ภาพ
  • ในการจัดอาร์ตเวิร์กทั้งหมด จะกำหนดให้ใช้โปรแกรม Adobe InDesign เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันและสะดวกต่อการนำไปต่อยอด
  • โปรแกรม Adobe InDesign เหมาะสำหรับ E-book ที่มีฟีเจอร์ไม่มาก และควรใช้ file format E-pub ซึ่งมีพื้นฐานจาก HTML5 เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เช่น สามารถทำ screen reader สำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตาได้ แต่หาก E-book ที่มีฟีเจอร์มากอาจต้องเป็นจ้างเป็นโครงการเฉพาะ ที่สามารถออกแบบกึ่ง ๆ Web App หรือสร้าง App คลุมอีกทีได้
  • คู่มือครู หากสาขาไม่ได้จ้างออกแบบอาร์ตเวิร์ก ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้จะให้สาขาใช้เทคโนโลยีในรูปแบบ Flipping Book ซึ่งใช้งานง่ายกว่าและสามารถแปลงจากไฟล์ PDF ได้อัตโนมัติ
วีดิทัศน์
ข้อกำหนดทางเทคนิค ข้อพึงคำนึงเพิ่มเติม และข้อแนะนำในการเผยแพร่สื่อวีดิทัศน์
ข้อกำหนดทางเทคนิค
  • การบันทึกวีดิทัศน์ ให้ใช้ Full HD Mode (1920 x 1080) จากนั้น export เป็น File MP4 Framerate ให้ตั้งค่าเป็น 30 เฟรมต่อวินาที และเลือกเป็นระบบ PAL
  • Audio ให้ตั้งค่าเป็น 48000 Hz stereo
  • สำหรับการ live ให้ตั้งค่าตามข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์ม
  • ในกรณีที่นำ PowerPoint มาใช้ในวีดิทัศน์ ให้ตั้งค่าขนาดเป็น Widescreen 16:9 และ 1920 x 1080 pixel
  • ในกรณีที่แสดงกรอบวีดิทัศน์วิทยากร ควรมีอัตราส่วนความยาวต่อความกว้างเป็น 16:9 ในแนวตั้งหรือแนวนอน ถ้าเป็นไปได้ให้วางกรอบวิทยากรไว้มุมล่างขวา มีขนาดตามความเหมาะสม ดังรูป
  • ในกรณีที่ต้องการส่งไฟล์ภาพให้ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ใช้เพื่อการตัดต่อ เช่น รูปถ่าย ภาพที่สร้างจาก Photoshop ที่นำมาใส่ในวีดิทัศน์ควรใช้ไฟล์ JPEG หรือ PNG มาตรฐานสีให้ใช้เป็น RGB ความละเอียดอย่างน้อย 72dpi และ 1920 x 1080 pixel
  • ในกรณีที่ต้องการส่งไฟล์เสียงให้ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ใช้เพื่อการตัดต่อ เช่น ดนตรีประกอบ เสียงพากย์ เสียงเอฟเฟ็กต์ ให้ใช้ไฟล์ MP3 หรือ WAV
  • ในกรณีเป็นวีดิทัศน์ลิขสิทธิ์ของ สสวท. หน่วยงานเดียว ให้ใช้ส่วนต้นที่มีตราสัญลักษณ์ สสวท. จากฝ่ายนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้
  • ส่วนท้ายของวีดิทัศน์ประกอบด้วย
    • รายชื่อผู้จัดทำ
    • อำนวยการผลิตโดย (ใส่ชื่อและตำแหน่งผู้อำนวยการ สสวท.)
    • ตราสัญลักษณ์ สสวท. และชื่อสถาบัน
    • ตามลำดับ หรือใช้ไฟล์ส่วนท้ายจากฝ่ายนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้
  • ในกรณีที่นำภาพ เสียง วีดิทัศน์ รูปแบบตัวอักษร (font) โลโก้ ยี่ห้อของสื่อการสอนต่าง ๆ และอื่น ๆ มาใช้ในการจัดทำวีดิทัศน์จะต้องเป็นไฟล์ที่ถูกลิขสิทธิ์ หรือหากมีการจัดซื้อไฟล์ดังกล่าวจะต้องมีใบรับรองการอนุญาตให้ใช้ไฟล์ และให้ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตของลิขสิทธิ์ไฟล์ที่ใช้
ข้อพึงคำนึงเพิ่มเติม
  • เนื้อหามีความถูกต้อง ทั้งเสียงบรรยายและข้อความที่ปรากฏ
  • ภาษาพูดเข้าใจง่าย สุภาพ ไม่เร็วเกินไป เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ข้อความที่ปรากฏในวีดิทัศน์เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ความยาววีดิทัศน์มีความเหมาะสมกับเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมาย
  • ในกรณีที่เป็นวีดิทัศน์วิทยากรบรรยายควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์
  • ควรถ่ายทำวีดิทัศน์ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  • เสียงบรรยายของวิทยากรควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ดังหรือเบาเกินไป และไม่มีเสียงรบกวน
  • อาจใช้ดนตรีประกอบหรือเสียงเอฟเฟ็กต์เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างบรรยากาศในแต่ละช่วงของวีดิทัศน์ โดยดนตรีประกอบและเสียงเอฟเฟ็กต์ต้องไม่ดังกว่าเสียงบรรยายของวิทยากร และไม่ควรใส่เสียงเอฟเฟ็กต์มากเกินไปเพราะอาจรบกวนสมาธิของผู้ชม
  • PowerPoint ที่ใช้ในวีดิทัศน์ชุดเดียวกันควรออกแบบให้มีรูปแบบอัตลักษณ์เดียวกัน
  • ในกรณีที่นำภาพ เสียง หรือวีดิโอ มาใช้ในการจัดทำวีดิทัศน์ ควรมีข้อความแสดงแหล่งที่มาด้วย
ข้อแนะนำในการเผยแพร่สื่อวีดิทัศน์
  • ควรใส่ Tag พื้นฐาน เช่น ชื่อวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์) ชื่อบทหรือ keyword (ตรีโกณมิติ วงกลม) สสวท. IPST ชื่อโครงการ
  • เลือกรูป Thumbnail ให้น่าสนใจ
  • ควรตั้งชื่อวีดิทัศน์ให้สอดคล้องกันทั้งโครงการ โดยคำนึงถึงการแสดงผลที่สามารถเห็นชื่อเรื่องและชื่อตอนให้ชัดเจน แม้ถูกตัดข้อความที่ยาวเกินกำหนดออกไปบางส่วน
  • ควรประชาสัมพันธ์ให้ครู นักเรียน และผู้สนใจ กดติดตาม Channel เพื่อให้ได้รับการแจ้งเตือนเมื่ออัปโหลดวีดิทัศน์ใหม่
  • ควรอัปโหลดวีดิทัศน์ในช่วงเวลาเดียวกันเป็นกิจวัตร เพื่อให้ระบบ YouTube คัดเลือกไปนำเสนอให้กับผู้ติดตาม
ข้อกำหนดในการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์
คู่มือมาตรฐานการเขียนสื่อสิ่งพิมพ์ สสวท.
คู่มือเอกลักษณ์สื่อการเรียนการสอนของ สสวท.
ประถมศึกษาปีที่ 1 - 3
PDF document - 25.7 MB
ประถมศึกษาปีที่ 4 - 6
PDF document - 16.8 MB
มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3
PDF document - 18.2 MB
มัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6
PDF document - 18.5 MB
สื่อที่สามารถนำไปใช้ในงานของ สสวท.