หลักสูตร สื่อและกระบวนการจัดการเรียนรู้

หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้

สสวท. พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นปฏิบัติการ และสร้างความเข้าใจในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาสื่อและกระบวนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และการนำไปใช้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จนครบทุกชั้นเรียน ในปี 2563 ประกอบด้วย

หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับชั้นรูปแบบใหม่ ที่ทันสมัย ผสานสื่อเสมือนจริงสามมิติ สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน เน้นสื่อรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทั้งสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อรองรับการใช้งานในวงกว้างสำหรับนักเรียนทุกกลุ่ม และครูทุกระดับชั้น รวมไปถึงสื่อเพื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์ใช้รองรับสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 และช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

สื่อในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ 65 พรรษา (สื่อ 65 พรรษา) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในรูปแบบของชุดการเรียนรู้สมบูรณ์แบบ ครอบคลุมหลักสูตรที่อิงมาตรฐานและเชื่อมโยงไปสู่สมรรถะ เน้นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมของผู้เรียนรอบด้าน มีการวัดประเมินผลที่สะท้อนถึงการพัฒนาและความสำเร็จของผู้เรียน ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นคว้าต่อเนื่องในลักษณะการเรียนรู้ตามความสนใจ

โครงการสอนออนไลน์ Project 14 เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ใช้งานได้ในโรงเรียน และสอดคล้องกับบริบทการใช้งานสื่อดิจิทัลของสังคมไทย โดยต่อยอดสื่อการเรียนรู้จากหนังสือเรียนและคู่มือครู ให้เป็นสื่อดิจิทัลที่ยกระดับการสอนของครูและการเรียนรู้ของนักเรียนโดยลดข้อจำกัดของสื่อแบบเดิมที่เน้นความเข้าใจ เชื่อมโยงชีวิตจริง สะดวกในการเข้าถึง และใช้งาน สอดคล้องกับตัวชี้วัดกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามหนังสือเรียน สสวท. ครบทุกหัวข้อ ตั้งแต่ ป. 1 ถึง ม. 6 และมีเนื้อหาตรงตามหลักสูตร ครบทุกตัวชี้วัด

สื่อ Project 14 ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของการเรียนการสอนที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ตามปกติ และในปีงบประมาณ 2564 สสวท. ได้พัฒนาสื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะนี้ สสวท. กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มภายใต้โครงการ Project 14 เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลการเรียนรู้ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้ในการประเมิน วิเคราะห์ พยากรณ์ และพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบในอนาคต

เครื่องมือในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เน้นการวัดผลเชิงสมรรถนะ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการวัดและประเมินผลที่เน้นวัดสมรรถนะ มากกว่าความรู้ ความจำ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เน้นการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา สามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริง และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้หลักสูตร วิธีการเรียนรู้ วิธีสอนและการประเมินผลพัฒนาสื่อและกระบวนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สสวท. ได้มีส่วนร่วมในการออกข้อสอบวิชา PAT 1 (ความถนัดทางคณิตศาสตร์) และ PAT 2 (ความถนัดทางวิทยาศาสตร์) โดยปรับรูปแบบแนวข้อสอบเดิมที่วัดความรู้เป็นหลัก ให้เน้นคิดวิเคราะห์ และจำลองสถานการณ์การทดลอง ซึ่งต่อไป สสวท. จะได้พิจารณาหาแนวทางในการจัดอบรมครูให้สอนได้อย่างมีสมรรถนะเพื่อให้สอดรับกับวิธีการวัดและประเมินผลที่ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จากการที่ สสวท. ปรับรูปแบบข้อสอบให้เน้นการคิดวิเคราะห์ ส่งผลให้ สถาบันกวดวิชาได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนมาตามแนวทางของ สสวท. มากขึ้น และสอดรับกับแนวทางของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยใช้เครื่องมือในการรับนิสิต นักศึกษา โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสามารถใช้ได้จริงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามแนวทาง ของ สสวท. ด้วยเช่นกัน

การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และประเทศที่เข้าร่วมโครงการ โดยประเมินความรู้และทักษะของนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี ใน 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ในการประเมินผลนักเรียนจะวัดความรู้และทักษะทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักในด้านใดด้านหนึ่งในการประเมินแต่ละรอบ


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content