
โดย อ.จิรวัฒน์ ดำแก้ว จาก สสวท.
การปลูกพืชให้เจริญเติบโต พืชจำเป็นได้รับแสง น้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง สร้างอาหารให้แก่พืช นอกจากนี้พืชยังต้องลำเลียงสารจากรากไปยังส่วนต่างๆของร่างกายและการสังเคราะห์สารต่าง ๆ
นอกจากนี้พืชยังต้องการธาตุอาหารในการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของพืช เพราะธาตุอาหารเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างต่าง ๆ พืช แล้วยังเป็นส่วนประกอบของสารที่ทำหน้าที่ในกระบวนการสำคัญ เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสง การหายใจ โดยทั่วไปในดินจะมีธาตุอาหารหลายชนิดที่จำเป็นต่อพืช แต่ดินในแต่ละพื้นที่อาจะมีชนิดและปริมาณของธาตุอาหารแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสารที่เป็นองค์ประกอบของดิน
ธาตุอาหารที่พืชขาดไม่ได้มี 17 ธาตุ ซึ่งพืชได้รับจากน้ำและอากาศ 3 ธาตุ คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) และพืชได้รับจากดินอีก 14 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) คลอรีน (Cl) และนิกเกิล (Ni)
ถ้าดูตามปริมาณความต้องการของพืช พบว่าพืชต้องการธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในปริมาณที่มาก ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณที่รองลงมาคือ แคลเซียม แมกนีเซียมและกำมะถัน ส่วนธาตุอาหารอื่นอีก 11 ธาตุ พืชก็ยังคงต้องการในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่สามารถขาดได้ ไม่เช่นนั้นพืชจะแสดงอาการผิดปกติ


(จากหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้น ม.1 เล่ม1)
การแก้ปัญหาการขาดธาตุอาหารของพืชควรสังเกตลักษณะอาการ วิเคราะห์ดินและวิเคราะห์เนื้อเยื่อพืช จากนั้นหาแนวทางปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช หนึ่งในวิธีการเพิ่มธาตุให้แก่พืชทำได้โดยการใส่ปุ๋ย ปุ๋ยมีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ โดยแต่ละประเภทมีข้อดีข้อจำกัดแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของพืช
เรียนรู้และเข้าใจเรื่องพืชเพิ่มเติมได้ที่ : https://proj14.ipst.ac.th/m1/m1-sci-book1/sci-m1b1-019/