ปีนี้โลกของเราเผชิญภัยธรรมชาติสร้างผลกระทบและความเสียหายในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า แผ่นดินไหว อุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ ฝน ตั้งแต่ตกหยิม ๆ ตกปานกลาง ไปจนถึงตกแบบไม่ลืมหูลืมตาชนิดที่เรียกว่าพายุเข้า พาให้เราต้องคอยดูพยากรณ์อากาศกันล่วงหน้าก่อนจะวางแผนเดินทาง เรียกว่ารอบคอบไว้ปลอดภัยกว่า
พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็อดไม่ได้ต้องคลิกเข้าไปตามหาความรอบรู้กันในแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ SciMath ของ สสวท. ที่จะนำเราไปทัศนศึกษาออนไลน์ในแหล่งเรียนรู้หลาย ๆ แห่ง แต่ที่พลาดไม่ได้นั่นคือ “กรมอุตุนิยมวิทยา” หนึ่งในแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจและเข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบัน
ทัศนศึกษาออนไลน์ “กรมอุตุนิยมวิทยา” : https://fieldtrip.ipst.ac.th/#/content/9
กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization-WMO) ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยากับประเทศสมาชิกทั่วโลกได้
ในขณะเดียวกันการทัศนศึกษาก็เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างทักษะประสบการณ์ กระตุ้นการคิด การสังเกต การวางแผนและทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักแก้ปัญหา ทันโลก แตกต่างจากการเรียนรู้ภายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
แต่ในบางสถานที่หากนักเรียนพบอุปสรรคไม่สามารถเดินทางไปได้สะดวก อยู่ห่างไกล ลำบากในการเดินทาง ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หรือบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้มีบุคคลภายนอกเข้าไป
“การทัศนศึกษาออนไลน์” ช่วยคุณครูแก้ปัญหาในการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้อย่างลงตัว
อุตุนิยมวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศและปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยสภาวะอากาศปัจจุบันที่ต้องใช้เป็นข้อมูลเริ่มต้นสำหรับการพยากรณ์อากาศนั้น ได้มาจากการตรวจอากาศ ซึ่งมีทั้งการตรวจอากาศผิวพื้น การตรวจอากาศชั้นบนในระดับความสูงต่าง ๆ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำการตรวจเพื่อพยากรณ์อากาศ ได้แก่ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ลม เมฆ และฝน
แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ยังพาเราไปเยี่ยมเยือนทำความรู้จักกับงานตรวจอากาศชั้นบน งานพยากรณ์อากาศ ศูนย์ปฏิบัติการแผ่นดินไหว สถานีแก๊ส สนามอุตุนิยมวิทยา
พร้อมกันนี้ยังมีคลิปวีดิโอย่อย ๆ ที่คุณครูสามารถใช้เป็นตัวช่วยจัดการเรียนรู้ได้สะดวก เพราะให้รายละเอียดด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียงอธิบายครบครัน
สร้างความเข้าใจว่าอะไรคือ กรมอุตุนิยมวิทยา องค์ประกอบของลม ฟ้า อากาศ สนามอุตุนิยมวิทยา การวัดความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุด เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ทิศทางลมและอัตราเร็วลม การวัดแสงแดด ความกดอากาศ การตรวจอากาศชั้นบน การพยากรณ์และวิเคราะห์ข้อมูลอากาศ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว เป็นต้น
ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกหลากหลายรอให้ไปค้นคว้า หมดปัญหาเรื่อง ฝนตก พายุเข้า แดดร้อน เดินทางทุลักทุเล ทัศนศึกษาออนไลน์แก้ปัญหาได้แสนสะดวกที่คลังความรู้ สสวท. https://www.scimath.org คลิกเลยที่แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ เที่ยวไปเรียนไปกับ สสวท. https://fieldtrip.ipst.ac.th/#/content