พลังงานจลน์ (Kinetic energy)

เป็นพลังงานที่มีอยู่ในวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่และเป็นปริมาณสเกลาร์ มีหน่วยเป็นจูล (J) พลังงานจลน์จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราเร็วและมวลในการเคลื่อนที่ของวัตถุ

วัตถุที่มีมวลเท่ากันแต่เคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วต่างกัน วัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วมากกว่าจะมีพลังงานจลน์มากกว่า เช่น รถยนต์ 2 คัน มีมวลเท่ากันแต่เคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วต่างกันแล่นเข้าชนสิ่งกีดขวาง รถคันที่เคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วมากกว่าจะมีพลังงานจลน์มากกว่า และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งกีดขวางนั้นได้มากกว่า

ส่วนวัตถุที่มีมวลต่างกันเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วเท่ากันจะมีพลังงานจลน์ต่างกัน โดยวัตถุที่มีมวลมากกว่าจะมีพลังงานจลน์มากกว่า เช่น รถบรรทุกและรถจักรยานยนต์เคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วเท่ากันเข้าชนสิ่งกีดขวาง รถบรรทุกซึ่งมีมวลมากกว่าจะมีพลังงานจลน์มากกว่า ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งกีดขวางนั้นได้มากกว่ารถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตาม พลังงานจลน์ไม่ได้คงอยู่ในรูปแบบเดิมเสมอไป ตาม “กฎการอนุรักษ์พลังงาน” พลังงานจลน์สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปแบบอื่นได้ เช่น

  • พลังงานศักย์โน้มถ่วง: เมื่อลูกบอลถูกโยนขึ้นฟ้า พลังงานจลน์จะลดลงและเปลี่ยนเป็นพลังงานศักย์โน้มถ่วง ก่อนที่ลูกบอลจะตกลงมา
  • พลังงานความร้อน: เมื่อรถยนต์เบรก พลังงานจลน์ของรถจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนผ่านแรงเสียดทานของผ้าเบรก
  • พลังงานเสียง: เมื่อรถชนกับสิ่งกีดขวาง พลังงานบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นเสียงที่เราได้ยิน
  • พลังงานไฟฟ้า: ในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานจลน์จากการหมุนของกังหันจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า

บทเรียนออนไลน์ Project 14 เรื่อง พลังงานจลน์ >> https://proj14.ipst.ac.th/m2/m2-sci-book2/sci-m2b2-004/

อ้างอิง : หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.2 เล่ม 2 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content