
ไม่ว่าอาหารกิน ศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เทศกาลประเพณี วิถีไทยหลาย ๆ หัวข้อ ตอนนี้ กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดต่างชาติให้หาโอกาสมาสัมผัสด้วยตัวเองเพื่อเปิดประสบการณ์ตรงสักครั้ง
เรียกได้ว่าซอฟต์พาวเวอร์ไทย ดึงดูดใจถึงไกลสุดหล้า
และก็แอบดีใจเพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นข่าวว่าภาครัฐเดินหน้าพัฒนาวางมาตรการจัดการแหล่งธรณีวิทยาและแหล่งซากดึกดำบรรพ์ในไทยให้มีมาตรฐาน สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในแต่ละพื้นที่ในอนาคตได้ โดยเติมองค์ความรู้ให้ผู้เข้าชมด้วยเทคโนโลยีทันสมัย
น่าจับตาถ้าต่อไปการเยี่ยมเยือนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ สามารถเปิดประตูสู่แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์และศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้พร้อมกันด้วย
นับว่าคุ้มค่า คุ้มเวลา พัฒนาความรู้และประสบการณ์ ครบเครื่อง
ว่าแล้วก็อดไม่ได้ต้องวาร์ปทะลุโลกออนไลน์ไปโผล่ที่ คลังสื่อการสอน MyIPST หรือ https://myipst.ipst.ac.th ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่รวบรวมสื่อการสอนสำหรับครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือช่วยการจัดการเรียนการสอนในชั้น สร้างความเข้าใจให้นักเรียน
มาที่นี่เพราะตามหาสื่อการเรียนรู้ธรณีวิทยา วีดิทัศน์ แหล่งเรียนรู้สุสานหอยแหลมโพธิ์ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่
สื่อประกอบการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ เล่ม 1 บทที่ 4 การลำดับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา เนื้อหาตรงตามหลักสูตร
แม้ว่าจุดเด่นของที่นี่จะมีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว แต่ที่จริงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่สำคัญซึ่งผ่านความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและกาลเวลามาอย่างยาวนาน
สุสานหอยแหลมโพธิ์ เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในอดีต จากหลักฐานที่ปรากฎในปัจจุบัน โดยแผ่นหินบริเวณนี้พบซากดึกดำบรรพ์ของหอยขมน้ำจืดเต็มไปหมด
และเมื่อทอดสายตาสู่ทะเลเบื้องหน้าสลับกับระลอกคลื่นที่กระทบหาดซ่านซ่าเป็นระยะ ก็จะได้พบความสำคัญทางธรณีวิทยาของที่นี่
เพราะชายหาดลานหินแห่งนี้ หรือ สุสานหอยแหลมโพธิ์ จังหวัดกระบี่นั้น เป็นลักษณะของชั้นหินปูน ที่มีความหนา 0.5 – 1 เมตร ซึ่งชั้นหินปูนบริเวณสุสานหอยเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนดินเหนียว ตะกอนทราย และคาบอเนต และส่วนประกอบอื่น ๆ
แม้ว่าในปัจจุบันจะประชิดติดทะเล ลานหินตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆที่ปรากฎแก่สายตานั้น มองแวบแรกอาจคล้ายกับลานซีเมนต์ แต่แท้ที่จริงคือ ชั้นหินที่พบการสะสมของหอยขมน้ำจืดชนิดหนึ่ง และเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่บ่งชี้สภาพในอดีตว่าเคยเป็น “แหล่งน้ำจืด” มาก่อน
การสะสมตัวของหอยขมจำนวนมหาศาลเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่บ่งบอกทั้งอายุ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ซึ่งช่วยให้ทราบถึงวิวัฒนาการทางธรณีวิทยากับกาลเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จุดประกายความสนใจธรณีวิทยาให้นักเรียน
พร้อมกันนี้ยังมีเครื่องมือช่วยครูสร้างความเข้าใจให้ชั้นเรียน อาทิ แนวทางกิจกรรมในชั้นเรียน เช่น เรื่องการวางตัวของชั้นหิน แบบบันทึกกิจกรรม วีดิทัศน์ การลำดับชั้นหิน การลำดับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา
ตัวอย่างผลการทำกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ส่งผลต่อลำดับชั้นหิน หรือ กิจกรรมการเปลี่ยนแปลงทางธรณีที่ส่งผลต่อลำดับชั้นหิน ซึ่งคุณครูอาจอธิบายลำดับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา ด้วยแบบจำลองที่สร้างขึ้นในชั้นเรียนก็ได้ เป็นต้น
คลังสื่อการสอน MyIPST สสวท. เลือกค้นหาสื่อได้ตามหนังสือเรียน หรือ ตามระดับชั้นที่สอนก็ได้ โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ คลิกที่ https://myipst.ipst.ac.th/baskets/search?subjects=EARTH_SCIENCE วีดิทัศน์แหล่งเรียนรู้สุสานหอยแหลมโพธิ์ https://myipst.ipst.ac.th/medias/search?keyword=หอย
ในอนาคตอันใกล้นี้ เราคงได้เห็นการต่อยอดแหล่งธรณีวิทยา สู่การพัฒนาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวที่อุดมปัญญา
แต่สำหรับตอนนี้วาร์ปไปเพิ่มพลังสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ คลังสื่อการสอน สสวท.MyIPST ไปกันเลย
…………………………………………..
แหล่งอ้างอิง :
ดันซอฟต์พาวเวอร์แหล่งธรณี https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2743711