
ปรบมือดัง ๆ ให้ทีมนักแกะสลักของไทยที่พิชิตรางวัลชนะเลิศรางวัลที่ 1 ในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมกราคมต้นปีนี้ จากฝีมือของทีมนักศึกษาอาชีวศึกษาเสาวภา ด้วยผลงาน “ตุ๊กตุ๊ก ออนทัวร์” โดยนำรถตุ๊กตุ๊ก มาเป็นสื่อกลางนำตัวละครต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและประเพณีไทยเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก
นอกจากนี้ทีมนักศึกษาอีก 2 สถาบันของไทยคือ ทีมจาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ยังคว้ารางวัลอันดับ 3 จากงานนี้ด้วย ประสานพลังสร้างชื่อเสียงขจรขจายให้บ้านเรา
ยัง ยังปังไม่หมด ตามมาติดๆ กับความสำเร็จของทีมนักแกะสลักของไทยที่พาผลงานแกะสลักหิมะ “บั้งไฟพญานาค” ลัดฟ้าไปคว้ารางวัลที่ 2 จากการประกวดแข่งขัน Sapporo International Snow Sculpture ครั้งที่ 48 ซึ่งเป็นกิจกรรมไฮไลต์ของเทศกาลหิมะ Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 74 ณ เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น
บ้านเราไม่มีหิมะ แต่คนไทยชนะด้วยฝีมือและความภาคภูมิใจ
แล้วหิมะคืออะไร วิทยาศาสตร์ไขข้อสงสัยด้วย กิจกรรมการเรียนรู้และวีดิทัศน์ “ฝน หิมะ และลูกเห็บเกิดขึ้นได้อย่างไร” ในคลังสื่อการสอน MyIPST ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) https://myipst.ipst.ac.th/medias/search?keyword=หิมะ
ใช้ประกอบการสอนในชั้นเรียนหรือทบทวนความเข้าใจรองรับ หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประถมศึกษาปีที่ 5 เล่ม 2
เรียนรู้ลักษณะและกระบวนการเกิดของ“หยาดน้ำฟ้า” ซึ่งหยาดน้ำฟ้านั้น เป็นน้ำในสถานะต่าง ๆ ที่ตกจากเมฆถึงพื้นดิน เช่น ฝน หิมะ ลูกเห็บ
หยาดน้ำฟ้าแต่ละชนิด มีกระบวนการเกิดและลักษณะที่แตกต่างกัน โดยไอน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของบรรยากาศ เพราะทำให้เกิดหยาดน้ำฟ้า
เมื่ออากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศจะเย็นลง ทำให้ไอน้ำในอากาศเกิดการควบแน่นเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ จับตัวกันเป็นเมฆลอยอยู่ในท้องฟ้า เมื่อละอองน้ำในเมฆชนกันและรวมตัวกันมีขนาดใหญ่ขึ้นจนมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่อากาศจะพยุงไว้ได้ ก็จะตกลงมายังพื้นโลกเรียกว่า ฝน
เอาล่ะ ได้เวลาทำความรู้จัก“หิมะ”พระเอกของเรากันแล้ว
“หิมะ”เกิดจากไอน้ำในอากาศที่มีสถานะเป็นแก๊ส ระเหิดกลับเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง จับตัวกันเป็นผลึกน้ำแข็งและตกลงมาบนพื้นผิวโลก โดยส่วนใหญ่จะมีรูปทรงสมมาตรแบบ 6 แฉก
รูปร่างของผลึกน้ำแข็งหรือเกล็ดหิมะนั้น มีลักษณะเป็นผลึกใสที่มีลักษณะสมมาตรและมีรูปร่างสวยงามหลายรูปแบบทั้งแบบกิ่งก้าน แท่ง หรือ แบบแผ่น
ประเทศที่อยู่ในพื้นที่หนาวเย็น หรือบนยอดเขาสูงมากๆ ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ เราจึงได้เห็นหิมะโปรยปรายขาวโพลนจับบ้านเรือน ยอดไม้ ภูมิทัศน์ ตลอดจนอาณาบริเวณต่างๆ
ในบางประเทศก็มีหุบเขารวมทั้งลานสกีชื่อเสียงเลื่องลือ และทำให้บางประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สามารถจัดกิจกรรมแข่งขันการแกะสลักหิมะ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศได้ด้วย
พบกับ สื่อ กิจกรรมการเรียนรู้และวีดิทัศน์อธิบาย “ฝน หิมะ และลูกเห็บเกิดขึ้นได้อย่างไร” ที่คลังสื่อการสอน MyIPST สสวท. https://myipst.ipst.ac.th/medias/search?keyword=หิมะ
และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ชวนชื่นฝีมือแกะสลักหิมะของทีมไทย…ดังไกลลือลั่น
ชวนใช้สื่อวิทย์สร้างสรรค์…” หิมะเกิดได้อย่างไร”
…….***…..
แหล่งอ้างอิง :
MGRonline : https://mgronline.com/travel/detail/9670000002007
MGRonline : https://mgronline.com/sport/detail/9670000011614
The Publisher: https://web.facebook.com/profile/100063754175098/search/?q=%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B0