อยู่ร่วมอย่างเข้าใจ….วันไบโพลาร์โลก

เรียนรู้ อยุ่ร่วมอย่างเข้าใจ

วันที่ 30 มีนาคม เป็นวันที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองกับไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว วันนี้ตรงกับวันเกิดของ Vincent van Gogh  ผู้ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว วันไบโพลาร์โลกจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้โลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้

ไบโพลาร์เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระยะยาวไปจนตลอดชีวิตและเกิดขึ้นซ้ำได้ สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดขึ้นจากพันธุกรรม สารเคมีในสมอง และสิ่งแวดล้อม ในบางกรณีพบว่า ความเครียดก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคได้ เช่น ปัญหาด้านความสัมพันธ์ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเจ็บป่วย ปัญหาทางการเงิน

งานวิจัยพบว่า สารเคมีในสมองไม่สมดุล โดยสารเคมีที่เป็นพระเอกเป็นสารเคมีจำพวกตระกูลเอมีน ได้แก่ นอร์เอพิแนฟริน (norepinephrine) โดพามิน (dopamine) และ เซโรโทนิน (serotonin) นอกจากนี้ ยังพบว่า สมองบางส่วนของผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงและมีขนาดเล็กลง แต่ก็ยังไม่อาจสรุปได้ขนาดของสมองเปลี่ยนแปลงเพราะโรคหรือโรคทำให้ขนาดของสมองมีการเปลี่ยนแปลง (เรียนรู้เรื่องฮอร์โมนเพิ่มเติมได้จาก https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m6-bio-book5/)

เมื่อพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ตัวมีอาการผิดปกติจนเข้าข่ายเป็นไบโพลาร์ นั่นคือมีอารมณ์ที่เศร้ามาก (Depression) หรือในบางครั้งมีความตื่นเต้น อารมณ์ดี รู้สึกตนเองพลังเหลือเฟือจนเกินขีดปกติ (Mania) ต้องรีบพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและบำบัดทันที เพราะอารมณ์ที่แปรปรวนของผู้ป่วยอาจส่งผลร้ายรุนแรงเกินคาดได้ เช่น ไม่สามารถทำงานได้ ใช้เงินเกินตัวจนเป็นหนี้สิน การสังเกตความผิดปกติได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลดีมากเช่นกัน

แต่…อาการอารมณ์ดี หรือเสียใจอย่างมาก ไม่ได้หมายถึงว่าบุคคลนั้นเจ็บป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วจนต้องรับยาเสมอไป อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นระยะสั้น ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัจจัยแวดล้อม จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ อย่างไรก็ตาม อาการเบื้องต้นของโรคที่อาจสังเกตได้ก่อนพบแพทย์มีดังนี้

Bipolar disorder หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ประกอบไปด้วยช่วยอารมณ์ดีสุดขีดและอารมณ์เศร้าสุดขีด ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการดังนี้

อารมณ์ดีสุดขีด (Mania) เช่น

  • รู้สึกมีความสุข หรือตื่นเต้นมากเกินกว่าปกติ
  • มีความคิดเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว
  • เปลี่ยนจากความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิดหนึ่งอย่างรวดเร็ว
  • พูดเร็วมาก
  • ได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน
  • หงุดหงิดรำคาญใจผิดปกติ
  • รู้สึกชื่นชมตัวเองจนเกินพอดี
  • ขาดสมาธิ
  • ไม่หลับไม่นอน นอนไม่หลับ หรือรู้สึกว่าไม่ต้องการนอน
  • รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถเกินจากที่ตนเองเป็น
  • ตัดสินใจโดยไม่คิดให้รอบคอบแม้เป็นเรื่องสำคัญ
  • ทำสิ่งผิดปกติที่อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น ใช้เงินมาก สนใจเรื่องเพศมากขึ้น ใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน มีการตัดสินใจแปลก ๆ

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดอาการของภาวะซึมเศร้า (Depression) ผู้ป่วยอาจมีอาการ

  • อารมณ์ตก
  • รู้สึกมีพลังงานลดลงและเหนื่อยล้า
  • รู้สึกหมดหวังหรือคิดในแง่ลบ
  • รู้สึกผิด ไร้ค่า หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  • สนใจในกิจกรรมที่เคยชอบน้อยลง
  • มีปัญหาในการจดจ่อ การจดจำ หรือการตัดสินใจ
  • รู้สึกกระสับกระส่ายหรือหงุดหงิดง่าย
  • นอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ
  • รับประทานอาหารได้น้อยหรือมากเกินไป
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • มีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วเป็นโรคทางอารมณ์ที่ยังคงถูกเข้าใจผิดอย่างมากในสังคม ความเข้าใจผิดเหล่านี้อาจนำไปสู่การไม่เข้าใจผู้ป่วยและทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม เช่น

1. โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วเป็นแค่การเปลี่ยนอารมณ์ธรรมดา

ความจริง: โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วไม่ได้เป็นเพียงแค่ความอารมณ์แปรปรวนทั่วไป ผู้ป่วยจะมีช่วงอารมณ์ที่รุนแรงและต่อเนื่องนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

2. คนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วมักไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้

ความจริง: หากได้รับการรักษาและการดูแลที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมได้

3. การใช้ยาเพียงอย่างเดียวสามารถรักษาโรคได้

ความจริง: แม้ว่ายาจะเป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรคไบโพลาร์ แต่การบำบัดทางจิต การปรับพฤติกรรม และการดูแลสุขภาพจิตโดยรวมก็สำคัญเช่นกัน

4. ผู้ป่วยมักเป็นคนอันตราย

ความจริง: โรคนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเป็นบุคคลอันตราย ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้เกิดขึ้นได้น้อยมากเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม การเหมารวมเช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยถูกตีตราและลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ

5. ภาวะเมเนีย (Mania) เป็นช่วงเวลาที่สนุกและมีประสิทธิภาพ

ความจริง: แม้ว่าผู้ป่วยในช่วงนี้อาจรู้สึกมีพลังและคิดว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้มากมาย แต่ก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น เช่น ใช้จ่ายเงินเกินตัว ตัดสินใจผิดพลาด หรือเสี่ยงต่ออันตรายโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง

แพทย์จะจ่ายยาเพื่อช่วยควบคุมอารมณ์ของผู้ป่วย ในส่วนของผู้ดูแลหรือบุคคลในครอบครัว จะมีส่วนช่วยผู้ป่วยอย่างไรได้บ้าง

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การเข้าใจอาการของโรคซึ่งจะมีทั้งช่วงเวลาที่อารมณ์ดีสุดขีด และเศร้าอย่างมาก จะทำให้คุณซึ่งเป็นคนใกล้ตัวสามารถสังเกตเห็นอาการของโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
  2. รับฟังพวกเขาด้วยความอดทน ให้เวลารับฟัง ไม่รีบเร่งหาทาง “แก้ไข” ปัญหา หลีกเลี่ยงการขัดจังหวะหรือเสนอวิธีแก้ไข เพราะการรับฟังจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณให้การสนับสนุนและใส่ใจ
  3. ช่วยดูแลเรื่องสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเหมาะสม เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งการจัดการด้านการเงิน
  4. ดูแลกวดขันในเรื่องการกินยาและการพบแพทย์ ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกไม่สบายตัวในระหว่างการกินยา จึงจะงดยาด้วยตนเอง ซึ่งการจะงดยาจำเป็นต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ และโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักไม่คิดว่าตนเองเป็นผู้ป่วยจึงไม่ยอมกินยาและไม่เห็นความจำเป็นของการพบแพทย์

และสุดท้าย อย่าลืมดูแลตัวคุณเอง หาเวลาพักผ่อน ฝึกฝนการดูแลตัวเอง และผ่อนคลาย อย่าปล่อยให้ตนเองรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเครียดจนเกินไป คุณต้องดูแลสุขภาพจิตของตนเองให้เข้มแข็งและแข็งแรง คุณจึงจะสามารถดูแลคนอื่นได้


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content