
เมื่อพูดถึงควาย หลาย ๆ คนคงนึกถึงควายที่ใช้ไถนา แต่แท้จริงแล้ว ในประเทศไทย มีทั้งควายบ้าน และควายป่า ในอดีต ควายถูกนำมาใช้งาน ทั้งการไถนา เป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะควายมีความแข็งแรง บึกบึน และอดทน แต่ปัจจุบัน ควายถูกแทนที่ด้วยเครื่องทุ่นแรงสมัยใหม่ต่าง ๆ ความสำคัญของควายจึงลดลง รวมถึงจำนวนของควายด้วยเช่นกัน แต่ควายบ้านก็ยังพบเห็นได้บ้าง และในบางจังหวัดมีศูนย์อนุรักษ์ควายชนิดต่าง ๆ เช่น อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ชลบุรีและบุรีรัมย์
ควายป่าและควายบ้านมีพฤติกรรมการหากินคล้ายกันคือ ชอบน้ำ หากินในเวลากลางวันและนอนพักในเวลากลางคืน แต่ควายป่ามีขนาดใหญ่กว่า สูงได้ถึง 1.5 – 2 เมตร มีความยาวลำตัวขนาด 2.5 – 3 เมตร และหนักได้ถึง 800 – 1,200 กิโลกรัม ในขณะที่ควายบ้านส่วนใหญ่หนักไม่ถึง 500 กิโลกรัม เขาของควายป่ามีขนาดใหญ่และเป็นวงกว้างคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ ส่วนควายบ้านจะมีเขาขนาดเล็กกว่าควายป่า ที่ปลายขาของควายป่าจะมีสีขาวเป็นลักษณะรูปตัววีคล้ายใส่ถุงเท้า ซึ่งควายบ้านจะไม่มี ควายป่าจะมีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ไม่กลัวคน ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ยกเว้นตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะกลับเข้าฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์
น่าเป็นห่วงยิ่งนัก ควายป่าเป็นสัตว์สงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย จัดอยู่ในประเภท “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” Critically Endangered (CR): หมายถึง ชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในขณะนี้ ควายป่าชอบอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สูงชันมาก และมักพบในบริเวณที่มีแหล่งน้ำและป่าไผ่ ปัจจุบันพบควายป่าอยู่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพียงแห่งเดียว จำนวนไม่ถึง 50 ตัว
สาเหตุที่ควายป่ามีจำนวนลดลงจนเกือบจะสูญพันธุ์มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การล่าสัตว์ป่า การค้าสัตว์ป่า ขาดที่อยู่อาศัย ภัยธรรมชาติ โรคระบาด การลดจำนวนลงอย่างมากนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ควายป่าและทรัพยากรสัตว์ป่าอื่น ๆ ล้วนมีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ในด้านการกระจายพันธุ์พืช การผสมเกสร การทำลายศัตรูพืช และมูลสัตว์ทำให้ดินเกิดความอุดมสมบูรณ์ การอนุรักษ์สัตว์ป่าจึงมีความจำเป็นและมีแนวทางดังต่อไปนี้
แนวทางการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า
- กำหนดพื้นที่อนุรักษ์
- ส่งเสริมการวิจัยและเพิ่มองค์ความรู้ทรัพยากรสัตว์ป่า
- เผยแพร่ความรู้และสร้างจิตสำนึก
- เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก
ทั้งควายป่าและควายบ้านต่างก็มีความผูกพันธ์กับชาวไทยมาเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าควายจะถูกมองว่า “ถึกทน” แต่ควายก็ยังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อย่าให้ควายกลายเป็นเพียงตำนาน หรือพบเห็นได้ในนิทานเท่านั้น ร่วมกันตระหนัก เห็นความสำคัญ และให้คุณค่ากับควายไทยไปกับวันอนุรักษ์ควายไทย 14 พฤษภาคม ของทุกปี
อ้างอิง:
– https://www.seub.or.th/bloging/work/2023-222/
– https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m6-bio-book6/bio-m6b6-028/ เรื่อง มนุษย์กับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม