ถ้าถามว่าใครคือ “นักวิทยาศาสตร์ผู้เปลี่ยนโลก” หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “มักซ์ พลังค์” อย่างแน่นอน

มักซ์ พลังค์ (Max Planck) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2401 ที่ประเทศเยอรมนี ด้วยความคิดและมุมมองที่แปลกใหม่ ทำให้เขากลายเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดทฤษฎีควอนตัม อันเป็นรากฐานสำคัญของฟิสิกส์แผนใหม่
หากกล่าวว่า “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” ของไอน์สไตน์ ได้ปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเวลาและอวกาศ
“ทฤษฎีควอนตัม” ที่พลังค์เป็นผู้บุกเบิก ก็ได้ปฏิวัติความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ในระดับอะตอมและองค์ประกอบของอะตอมเช่นเดียวกัน
พลังค์และไอน์สไตน์ได้ร่วมกันพัฒนาทฤษฎีที่เป็นเสาหลักสำคัญของฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20 นำไปสู่การประยุกต์ใช้งานด้านการสื่อสาร การคมนาคม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การทหาร และอีกมากมาย ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติอย่างมหาศาลจนถึงทุกวันนี้
ความรู้เพิ่มเติม
1) พลังค์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี พ.ศ. 2461 จากผลงานการค้นพบควอนตัมของพลังงานที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่วงการฟิสิกส์สมัยใหม่
2) สมาคมฟิสิกส์เยอรมันได้นำชื่อของพลังค์ ไปตั้งชื่อรางวัล “เหรียญมักซ์ พลังค์” (Max Planck Medal) ซึ่งได้มอบรางวัลในปีแรกให้กับเขาและอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์เพื่อนร่วมชาติ
3) ผลงานชิ้นสำคัญของพลังค์ คือ แนวคิดเกี่ยวกับควอนตัมของพลังงานที่เขาใช้อธิบายการแผ่รังสีของวัตถุดำ (Black-body radiation)
4) แนวคิดควอนตัมของพลังงานของพลังค์ ถูกนำมาใช้อธิบาย “ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก” โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
5) แนวคิดควอนตัมของพลังงานของพลังค์ ยังเป็นรากฐานสำคัญของแบบจำลองอะตอมของ นีลส์ บอร์ (Niels Bohr)
6) ค่าคงตัวพลังค์ (Planck’s constant) แทนด้วยสัญลักษณ์ h มีค่าประมาณ 6.626 x 10^-34 จูลวินาที เป็นค่าคงตัวสากลที่ได้ถูกนำไปใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติมากมาย
7) สมาคมส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์ของประเทศเยอรมนี ถูกตั้งชื่อใหม่ว่าสมาคม มักซ์ พลังค์ เพื่อเป็นเกียรติแก่นักฟิสิกส์ที่สร้างคุณูปการแก่วงการฟิสิกส์โลก
อ้างอิง
หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ เคมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 1
https://www.britannica.com/biography/Max-Planck
https://www.nobelprize.org/…/1918/planck/biographical/
https://www.nobelprize.org/prizes/physics/1918/summary/
https://en.wikipedia.org/wiki/Max_Planck
http://uatscimath.ipst.ac.th/article-physics/item/1079-447
http://uatscimath.ipst.ac.th/article-physics/item/1082-450