วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

จากสถิติการเสียชีวิตในประเทศไทยพบว่า “โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดอันดับ 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของต้นเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคหัวใจเฉลี่ย 2 ถึง 3 เท่า หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ในทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ย 8 ราย

เนื่องในวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี แอดมินขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งกันอีกสักนิดว่า มะเร็งที่หลายคนคุ้นรู้จักกันดีนั้นคืออะไร และมะเร็งเหมือนหรือต่างจากเนื้องอกอย่างไร

รู้จักมะเร็ง
มะเร็ง (cancer) คือ เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumor) เป็นก้อนเนื้อที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติ และลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ ผ่านระบบหมุนเวียนเลือด

เซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วผิดปกติ ลุกลามและแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างที่ไม่อาจควบคุมได้ ส่งผลให้เซลล์ปกติอื่น ๆ ในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

มะเร็ง VS เนื้องอก
ต้องเกริ่นก่อนว่าเนื้องอก (tumor) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรดา (benign tumor) และ เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumor) ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งมักจะหมายถึง “เนื้องอกชนิดร้าย” อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ซึ่งก้อนเนื้อดังกล่าวจะเจริญอย่างรวดเร็ว แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและหลอดน้ำเหลือง ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้น มะเร็งจึงเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง เรื้อรัง มีขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน

ในขณะที่เนื้องอกมักจะหมายความถึง “เนื้องอกชนิดธรรมดา” คือมีก้อนเนื้อผิดปกติ แต่เจริญช้า ไม่ลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง แต่จะกดหรือเบียดเนื้อเยื่ออื่นเมื่อก้อนเนื้อนั้นโตขึ้น ไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายทางกระแสเลือดและหลอดน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด


อยู่อย่างไรให้ห่างไกลมะเร็ง
1) กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม
2) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3) เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหรือตรวจสุขภาพประจำปี
4) หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
5) หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งระบบหายใจ
6) หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับ
7) หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง เช่น สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ในอาหารแห้งที่อับขึ้น เช่น พริกป่น ถั่วลิสงบด หรือกุ้งแห้ง สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) จากอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง สารไนโตรชามีน (Nitrosamine) สารเคมีที่ใช้ถนอมอาหารในเนื้อสัตว์หมักดองหรือเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง ปลาร้า เป็นต้น

อ้างอิง
หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชีววิทยา ม.4 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) บทที่ 3 เรื่อง เซลล์และการทำงานของเซลล์
https://oryor.com/
http://ashthailand.or.th/


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content