ฝนหลวง

โครงการฝนหลวงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริฯ เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร
กระบวนการเกิดฝนเทียมมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : “ก่อกวน” โปรยโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) หรือสารเคมีตามสูตรที่เหมาะสมในทิศเหนือลม เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการก่อตัวของไอน้ำและความชื้นมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน
ขั้นตอนที่ 2 : “เลี้ยงให้อ้วน” โปรยแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) หรือสารเคมีตามสูตรที่เหมาะสม เพื่อดูดความชื้นและคายความร้อนออกมา ทำให้มวลเมฆก่อตัวใหญ่ขึ้น และมียอดเมฆสูงขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 : “โจมตี” เมื่อเมฆเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย ให้ทำการโจมตีก้อนเมฆโดยใช้เครื่องบิน 2 ลำ ลำแรกบินที่ยอดเมฆเพื่อโปรยโซเดียมคลอไรด์ให้มวลเมฆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลำที่ 2 โปรยผงยูเรียบริเวณฐานเมฆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกลั่นตัวของเมฆกลายเป็นเม็ดฝน
ในทางปฏิบัติยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายในการทำฝนหลวง ซึ่งแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการเลือกใช้สารเคมี แต่ทั้งหมดล้วนมีหลักการพื้นฐานคล้ายคลึงกันดังแสดงข้างต้น รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ตามอ้างอิงแนบท้าย
อ้างอิง
1) หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคมี ม.6 เล่ม 6 (ฉบับปรับปรุง 2560)
2) มูลนิธิชัยพัฒนา : ทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ “ฝนหลวง” https://goo.gl/Y9pBvy
3) ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน: 14 พฤศจิกายน วันพระบิดาแห่งฝนหลวง http://huahin.royalrain.go.th/prabidaday.php