
นับตั้งแต่ “พลาสติก” ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภค บริโภค อุปกรณ์ ของเล่นเด็ก ถ้วย จาน ขวดน้ำ หรือ บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารนานาชนิด มันก็ได้พาเอาปัญหามาให้เราหาทางรับมือด้วย เพราะภายหลังใช้งานมันก็คือ “ขยะ” ที่ยากยิ่งต่อการกำจัด
พลาสติกที่เราใช้กันอยู่อย่างคุ้นเคยนั้นถูกสังเคราะห์มานานแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่า เราเริ่มรู้จักพลาสติกตั้งแต่ พ.ศ. 2412 โดย นายจอห์น เวสลีย์ ไฮเอตต์ (John Wesley Hyatt) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่บริษัทผลิตลูกบิลเลียดในสหรัฐอเมริกาต้องการหาวัสดุทดแทนงาช้างซึ่งมีราคาแพงเพื่อใช้ในการผลิตลูกบิลเลียด
ต่อมาพลาสติกได้ถูกปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างและสมบัติ นำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรืออุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ได้รับความนิยมตอบรับอย่างสูงเพราะน้ำหนักเบา ราคาถูก ขึ้นรูปได้หลากหลายจึงสามารถใช้งานในรูปบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารได้แพร่หลายข้อดีมากมายในขณะที่ข้อเสียกลับน่าตกใจยิ่งกว่า เพราะมันไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง !
ข้อดีมากมายในขณะที่ข้อเสียกลับน่าตกใจยิ่งกว่า เพราะมันไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง !
ถ้ามีขยะพลาสติกจำนวนมาก แล้วมันหายไปไหนหมด ?
ขยะพลาสติกไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ที่แปลงร่างหายตัวได้ ดังนั้นมันจึงยังคงอยู่ในโลกใบนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าในบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก มีขยะพลาสติกอยู่ในปริมาณมากซึ่งมีบริเวณใหญ่โตราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่รัฐเท็กซัส หรือราว 1 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศไทย คิดเป็นน้ำหนักรวมประมาณ 300 ล้านตัน
แต่ละปีจะมีขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้น 8 ล้านตัน สหประชาชาติคาดว่าหากมนุษย์ยังทิ้งขยะกันต่อเนื่องในระดับนี้ทุกปีแล้ว ภายในปี พ.ศ. 2593 ทะเลจะมีขยะพลาสติกจำนวนมากกว่าปลา ซึ่งจะมีผลต่อการประมง สัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว ขยะจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล นอกจากนี้ในกระแสน้ำของมหาสมุทรยังมีขยะจากบริเวณตอนเหนือของเอเชีย และตอนเหนือของทวีปอเมริกาอีกด้วย
พลาสติกที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง เมื่อทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ สารเคมีจากพลาสติกจึงรั่วไหลไปในแหล่งน้ำได้ เมื่อสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำกลืนกินสารเคมีเหล่านี้เข้าไป แล้วมนุษย์ก็กินสัตว์น้ำนั้น สารพิษก็จะเคลื่อนย้ายตามโซ่อาหารกลับสู่มนุษย์นั่นเอง
ดังเช่นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ชาวบ้านคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ได้พบวาฬนำร่องครีบสั้นล่อยตัวเข้ามาในคลองด้วยอาการอ่อนแรง ไม่สามารถดำน้ำและเสียชีวิตในที่สุด เมื่อผ่าชันสูตรซากก็พบความผิดปกติในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอดอักสบ หัวใจขาดเลือด พยาธิในปอด ท่อน้ำดีและลำไส้ โดยเฉพาะมีขยะพลาสติกในส่วนต้นของกระเพาะอาหารหนักประมาณ 8 กิโลกรัม จำนวนถึง 85 ชิ้นทีเดียว
ขยะพลาสติกจึงไม่เพียงเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสุขภาพสิ่งมีชีวิต แต่ยังทำร้ายสิ่งแวดล้อม พื้นที่เกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยว และชุมชนโดยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งเป็นพาหะเชื้อมาลาเรียและเชื้อไข้เลือดออกอีกด้วย
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ คือทางออก
หลายประเทศที่ตระหนักถึงภัยขยะพลาสติกล้นโลก จึงพยายามลดจำนวนขยะโดยลดความจำเป็นในการใช้งาน รณรงค์ให้ใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นทดแทน บางประเทศมีทั้งออกมาตรการห้ามใช้ทุกรูปแบบ บางประเทศใช้วิธีเก็บภาษีถุงพลาสติกประเภทที่ใช้แล้วทิ้ง หรือ รณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทน
แม้ว่าเราจะยังพิชิตปัญหาขยะพลาสติกไม่ได้เด็ดขาด แต่ปัจจุบันก็มีความพยายามแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การนำขยะพลาสติกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ซึ่งคิดค้นโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ นายโทบี แมคคาร์ทนีย์ วิศวกร ได้ทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้ขยะพลาสติกในท้องถิ่นแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างถนน มีราคาย่อมเยาและทนทานกว่าถนนทั่วไป
แนวคิดนี้เกิดจากการที่เขาได้พบคนอินเดียนำพลาสติกมาเผาเพื่ออุดหลุมบ่อตามท้องถนน ซึ่งปกติถนนทั่วไปจะใช้หิน ทราย หินปูน 90% ส่วนอีก 10 % คือยางมะตอย แต่บริษัทของเขาพัฒนาใช้เม็ดพลาสติกที่ทำจากขยะพลาสติกที่ได้จากครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจ มาทดแทนยางมะตอยได้
เพื่อลดปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก มาเริ่มต้นแก้ไขได้ที่ตัวเราเองเป็นอันดับแรกดีไหม อาทิ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น กล่องอาหาร จาน ชาม ที่ผลิตจากชานอ้อยหรือใบตองแทนที่ผลิตจากโฟม ลดการใช้หลอดพลาสติก ใช้ถุงผ้า หรือนำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่ามาใช้ใหม่ (Reuse) ไม่ทิ้งขยะเรียราด คัดแยกขยะทิ้งให้ถูกประเภท เป็นต้น
ขอขอบคุณ
– ข้อมูลจากบทความ ดร.นิสากรณ์ แสงประชุม โครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก สสวท.
https://www.scimath.org/article-science/item/12430-2021-08-23-06-09-42
– กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
https://www.dmcr.go.th/detailAll/38019/nws/141