ย้อนไปเมื่อครั้งที่ในหลวง ร.๙ ที่ได้ทรงประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” (เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย) เพื่อบำบัดน้ำเสียโดยเพิ่มปริมาณออกซิเจนลงในน้ำ ทำให้ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์
ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก อันแสดงถึงทรงพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงชนชาวไทย
๑๓ ปีต่อมา คณะรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แด่ในหลวง ร.๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
นอกจากกังหันน้ำชัยพัฒนาแล้ว ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกมากที่พระองค์ได้รับการถวายสิทธิบัตร แอดมินได้รวบรวมมาไว้ให้แล้ว ดังนี้
๑. เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย (“กังหันน้ำชัยพัฒนา”)
๒. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล)
๓. กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)
๔. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
๕. เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
๖. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง)
๗. การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน เป็นสิ่งประดิษฐ์ชื่อ “ฝนหลวง”
๘. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
๙. โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
๑๐. ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย
๑๑. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะ
พอได้ทราบที่มาของวันนักประดิษฐ์แล้ว ทำให้แอดมินเริ่มรู้สึกอยากประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักอย่างเลย แต่ก่อนอื่นต้องขอตัวไปเติมอาหารสมองให้แน่นก่อนด้วยนี่เลย
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบและเทคโนโลยี จาก สสวท. (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้ตั้งแต่ความเป็นมาของเทคโนโลยี แนวคิด และกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
ดูเพิ่มได้ที่ : https://www.facebook.com/ipst.thai/posts/4793652197337797