ชีวิตติดดิน เรื่องหิน (ต้องติดตาม)

ช่วงนี้แอดละสายตาจากจอข่าวต่างประเทศที่มาจากโลกตะวันตก หันมาอ่านข่าวประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้กันบ้าง อดไม่ได้ต้องทึ่งกับความสามารถของผู้คนในยุคประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะข่าวการขุดพบสุสานของจักรพรรดิจีนซึ่งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานรัฐของจีนว่าเป็นสุสานของจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตกที่นครซีอัน เมืองเอกของมณฑลส่านซี  มีอายุย้อนไปไกลถึง 202 ปีก่อนคริสตศักราชกันเลยทีเดียว โดยห้องฝังพระศพนั้นอยู่ใต้ดินลึก 2 – 4.5 เมตร ในขณะที่ฐานล่างสุดอยู่ใต้ดินลึกถึง 27-30 เมตร ทีเดียว

ใต้พื้นดินช่างมีเรื่องน่าอัศจรรย์จริง ๆ ถ้าดินและหินทุกก้อน สามารถบอกอะไรกับเราได้ เราคงได้รับรู้ความก้าวหน้าของผู้คนแต่ละยุคและวิทยาการที่ชวนเบิกตาโต หัวใจเต้นแรง นึกอยากนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปค้นหาอดีตแน่ ๆ

เปล่า ๆ แอดยังไม่ได้ฝันอยากเป็นนักโบราณคดีหรอกเพราะไม่ได้มีความสามารถถึงขนาดนั้น แต่ทำให้แอดคิดถึงความรู้เกี่ยวกับดินและหินบนโลกใบนี้ต่างหากล่ะ

ในฐานะที่แอดเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบติดดิน วันนี้เลยชวนเพื่อน ๆ มารู้จักกับหินแบบชวนติดตามกัน  กับสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ของ สสวท. ที่ชื่อ e-poster เรื่อง กระบวนการเกิดหินและวัฏจักรหิน ซึ่งเป็นสื่อเสริมเพิ่มความรู้ที่อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการเกิดหินแต่ประเภท และกระบวนการเปลี่ยนแปลงของหินในวัฏจักรหิน ที่ช่วยให้เข้าใจได้แบบไม่ต้องขมวดคิ้ว  

สามารถทำซ้ำ ดูซ้ำ หรือทบทวนหลาย ๆ รอบก็ได้  แถมคุณครูยังสามารถดาวน์โหลดใช้เป็นสื่อเสริมการสอน เพิ่มความเข้าใจในห้องเรียนได้อีกด้วย

ใน e-poster นี้ สร้างความเข้าใจแบบง่าย ๆ ด้วยลำดับขั้นตอน 1 – 2 – 3 – 4 – 5 -6  ซึ่งก็คือขั้นตอนที่ทำให้เรามองเห็นภาพของ วัฏจักรของหิน (Rock Cycle) และที่มาของหินประเภทต่างๆ ที่ใกล้ชิดกับชีวิตเรา

เริ่มต้นจาก ภูเขาไฟ  มองทะลุไปถึง แมกม่าใต้ผืนปฐพี การหลอมเหลว การเย็นตัวและตกผลึกของแมกมา การเย็นตัวและตกผลึกของลาวาตลอดจนการเย็นตัวและแข็งตัวของลาวา  การผุพังและการเคลื่อนที่ของตะกอน การสะสมตัวของตะกอนตลอดจนการเชื่อมประสานตะกอนการตกผลึกหรือตกตะกอนของสารบางชนิด จนนำไปสู่การแปรสภาพได้ผลลัพธ์เป็น…

หินอัคนี  หินตะกอน และ หินแปร นั่นเอง

 หินอัคนี เป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของแมกม่าใต้ผิวโลก และเกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกหรือการเย็นตัวและแข็งตัวของลาวาบนพื้นผิวโลก  ได้แก่ หินแกรนิต หินไดออไรต์ หินบะซอลต์ หินพัมมิซ

 หินตะกอน เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนและการเชื่อมประสาตะกอนและเกิดจากการตกผลึกหรือตกตะกอนของสารบางชนิด  ตัวอย่างหินตะกอนถ้าเอ่ยชื่อเพื่อนๆ อาจคุ้นเคยหรือเห็นมานานแล้วจนร้องอ๋อ เช่น หินทราย หินปูน หินกรวดมน หินดินดาน

หินแปร เกิดจากการแปรสภาพของหินทุกประเภท โดยความร้อน และ/หรือความดันที่อยู่ใต้ผิวโลกและอาจเกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นใต้ผิวโลก เช่น หินไนส์ หินชนวน หินอ่อน เป็นต้น หินบางประเภทเพื่อน ๆ อาจแค่ได้ยินชื่อแต่ไม่รู้จักหน้าตาก็ไม่เป็นไร สามารถเข้าไปทำความรู้จักที่มาที่ไป และหน้าตาของหินกันได้กับ  e-poster เรื่อง กระบวนการเกิดหินและวัฏจักรหิน ที่ คลังความรู้ Scimath ของ สสวท. http://ipst.me/pr0035

เพื่อนครูโดยเฉพาะของระดับประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถดาวน์โหลดไว้ใช้เป็นสื่อเสริมเพิ่มความเข้าใจให้นักเรียนได้อีกด้วย

และสามารถเรียนรู้ออนไลน์ Project 14 เรื่อง กระบวนการเกิดหิน วัฏจักรหิน และการนำหินและแร่ไปใช้ประโยชน์ ได้ที่ >> https://proj14.ipst.ac.th/p6/p6-sci-book1/sci-p6b1-012/

 อันว่าเรื่องชีวิตนั้นติดดิน เรื่องหิน ๆ เลยต้องติดตาม ไม่ใกล้ ไม่ไกลใน SciMath เลยจ้า

แหล่งที่มา : สำนักข่าวซินหัว https://www.xinhuathai.com/china/249168_20211214


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content