วาเลนไทน์ปีนี้ คุณจะมีคู่แบบ (DNA) หรืออยู่เป็นโสดแบบ (RNA)

ปุจฉา?

รู้หรือไม่? หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต คือ #การสืบพันธุ์ โดยการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ ของตนเองไปสู่รุ่นลูกหลาน ซึ่งลักษณะทางพันธุกรรมดังกล่าวถูกเก็บไว้ในสิ่งที่เรียกว่า #สารพันธุกรรม

  • สารพันธุกรรมทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ เมื่อสิ่งมีชีวิตมีการสืบพันธุ์ สารพันธุกรรมจะถูกถ่ายทอดสู่ยังรุ่นต่อไปด้วย โดยสารพันธุกรรมในเซลล์สิ่งมีชีวิตเรียกรวมว่า #กรดนิวคลีอิก (nucleic acid) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) #ดีเอ็นเอ (DNA – deoxyribonucleic acid) 2) #อาร์เอ็นเอ (RNA – ribonucleic acid)
  • #DNA (deoxyribonucleic acid) ที่มีลักษณะเป็นพอลิเมอร์สายยาว เรียกว่า #พอลินิวคลีโอไทด์ (polynucleotide) 2 สายจับกันเป็นเกลียวคู่คล้ายบันไดเวียน ภายใน DNA มีหน่วยย่อยที่เล็กยิ่งกว่า เรียกว่า #นิวคลีโอไทด์ (nucleotide) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนย่อย ได้แก่ 1) #น้ำตาลดีออกซีไรโบส (น้ำตาล 5 คาร์บอน) 2) #หมู่ฟอสเฟต (เป็นตำแหน่งที่มีการสร้างพันธะในสายพอลินิวคลีโอไทด์) 3) #ไนโตรจีนัสเบส (เป็นตำแหน่งที่มีการสร้างพันธะระหว่างสายพอลินิวคลีโอไทด์ที่เป็นคู่กัน) แบ่งออกได้ 4 ชนิด คือ อะดินีน (A) กวานีน (G) ไซโทซีน (C) และ ไทมีน (T)

แล้ว DNA กับ RNA เกี่ยวข้องกันอย่างไร

นอกจากหน้าที่ในการเก็บและถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรมแล้ว DNA ยังทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมผ่าน #การสังเคราะห์โปรตีน อีกด้วย โดยการสังเคราะห์โปรตีนจะเกิดขึ้นที่ไรโบโซมซึ่งอยู่ภายนอกนิวเคลียส.ดังนั้น DNA จึงไม่ใช่แม่แบบในการสังเคราะห์โปรตีน แต่จะเป็นแม่แบบในการสังเคราะห์ mRNA (messenger RNA) ขึ้นมาเพื่อนำส่งข้อมูลการสังเคราะห์โปรตีนไปยังไรโบโซมอีกทอดหนึ่ง

หมายเหตุ *** #RNA แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1. mRNA (messenger RNA) : นำส่งข้อมูลในการสังเคราะห์โปรตีน โดยถอดรหัสพันธุกรรมจาก DNA.

2. tRNA (transfer RNA): นำกรดแอมิโนไปยังตำแหน่งที่จำเพาะบนสาย mRNA ที่ไรโบโซมในกระบวนการแปลรหัส

3. rRNA (ribosomal RNA) : เป็นองค์ประกอบของไรโบโซมในส่วนที่เกิดการสังเคราะห์โปรตีน

แล้ว RNA เหมือนหรือต่างกับ DNA

RNA โดยทั่วไป คือ พอลินิวคลีโอไทด์สายยาวเพียงเส้นเดียว เกิดจากการเชื่อมต่อกันของหน่วยที่เล็กที่สุดของ RNA เรียกว่า นิวลีโอไทด์ ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยย่อยเช่นเดียวกับ DNA คือ น้ำตาลไรโบส หมู่ฟอสเฟต และไนโตรจีนัสเบส แต่ต่างกับ DNA ตรงที่ไนโตรจีนัสเบสใน RNA เป็น #ยูราซิล (U) ไม่ใช่ #ไทมีน (T)

อ้างอิง– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ม.4 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)- หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชีววิทยา ม.4 เล่ม 2 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)


ส่งข้อความถึงเรา