วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับโครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565 สสวท. ได้จัดทำสื่อเฉลิมพระเกียรติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับโครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในหัวข้อ “90 พรรษา 9 โครงการสำคัญ” ดังต่อไปนี้

ตอนที่ 1/9 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น งานแกะสลัก จักรสาน เครื่องปั้นดินเผา การทอผ้าไหม

กรมหม่อนไหมสานต่อพระราชดำริด้วยการส่งเสริมและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่ทอผ้าไหมด้วยการ ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกต้นหม่อน เพื่อมาเลี้ยงหนอนไหม หนอนไหมเมื่อเข้าสู่ระยะดักแด้จะสร้างเส้นไหมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทอผ้าได้ โดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จะเริ่มตั้งแต่การปลูกต้นหม่อนเพื่อใช้เป็นอาหารของหนอนไหม ซึ่งในการเลี้ยงไหม ผู้เลี้ยงต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิตของหนอนไหม

วัฏจักรชีวิตของหนอนไหมจะใช้ระยะเวลาประมาณ 41- 51 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของหนอนไหม มี 4 ระยะ คือ ผีเสื้อไหมตัวเต็มวัยจะวางไข่ ไข่ฟักออกมาเป็นหนอน หนอนก็จะกินใบหม่อนเป็นอาหาร เมื่อหนอนเจริญเติบโตเป็นดักแด้จะสร้างเส้นไหมมาปกคลุมสร้างเป็นรังไหม ในระยะนี้ดักแด้จะไม่มีการกินอาหาร เมื่อดักแด้เจริญเติบโตต่อไปจนเป็นตัวเต็มวัยก็จะออกจากรังไหม พร้อมจะสืบพันธุ์และวางไข่ต่อไป โดยรูปร่างลักษณะ การกินอาหาร และแหล่งที่อยู่ของผีเสื้อไหมในแต่ละระยะของการเจริญเติบโตจะแตกต่างกัน

การนำเส้นไหมมาใช้ประโยชน์ จะทำโดยนำรังไหมที่ยังมีดักแด้ไปต้มแล้วสาวเส้นไหมมาเก็บไว้ และนำไปย้อมสีเพื่อใช้สำหรับการทอผ้าไหมต่อไป นอกจากนั้นชาวบ้านยังสามารถนำผลของต้นหม่อนมารับประทานหรือนำไปขายเป็นการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่ง

ข้อมูลอ้างอิง:
1) หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป.3 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง 2560)
2) http://www.rdpb.go.th/rdpb/visit3/20-50project/50project_66_1.html
3) https://www.scimath.org/article-science/item/9114-mulberry


ตอนที่ 2/9 จากเส้นไหม สานเส้นใย สู่ลายผ้าทอ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ” เมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับราษฎร ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้เป็นมรดกสืบไป

หนึ่งในงานศิลปาชีพที่พระองค์ท่านได้ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็คือ “การทอผ้า” ไม่ว่าจะเป็นการทอจากเส้นไหมที่ได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหรือเส้นฝ้าย ลายผ้าทอของไทยล้วนมีความวิจิตรงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนเสน่ห์แห่งความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงออกแบบลายผ้ามัดหมี่เพื่อพระราชทานแด่ช่างทอผ้า ชื่อลายว่า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

ลายผ้านี้ ประกอบด้วย
1) ลาย S มาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของ Sirivannavari ซึ่งลาย S นี้ มีจำนวน 10 แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
2) ลายรูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน

จากพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มากว่า 40 ปีในครั้งนั้นของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้การทอผ้าได้กลายเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มทอผ้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์ผลงานการทอผ้าให้อยู่คู่ชาติไทยสืบไป

ข้อมูลอ้างอิง:
1) หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานคณิตศาสตร์ ม.2 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
2) http://www.rdpb.go.th/rdpb/upload/document/400_project.pdf
3) https://qsds.go.th/newqssckri/wp-content/uploads/sites/98/2021/08/laikor.pdf


ตอนที่ 3/9 โครงการอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก)

โครงการอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ติดแนวเขตป่าอนุรักษ์ให้มีความเป็นอยู่ มีอาชีพที่เหมาะสม พื้นที่ของโครงการครอบคลุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ 5 ล้านไร่

การดำเนินงานของโครงการมีหลายส่วน ส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นก็คือ การฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาระบบนิเวศ การปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ การปรับปรุงทุ่งหญ้าและการทำโป่งเทียม เพราะเป็นการทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีแหล่งอาหาร มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังทำให้สายใยอาหารในพื้นที่ดำรงอยู่ต่อไป

สัตว์กินพืช ตัวอย่างเช่น ช้าง กวาง กระทิง วัวแดง มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ มีอาณาเขตที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต เมื่อสัตว์กินพืชมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ก็จะทำให้สัตว์ผู้ล่ามีแหล่งอาหารด้วยเช่นกัน เกิดความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตอีกด้วย

การที่ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นทำให้จำนวนประชากรของสัตว์ในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ช้างป่าและวัวแดง นอกจากนั้นในพื้นที่ป่าในโครงการพบว่ามีสัตว์มากกว่า 562 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 122 ชนิด สัตว์ปีก 276 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 29 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 88 ชนิดและปลา 41 ชนิด โดยมีสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ 16 ชนิด และถูกคุกคาม 18 ชนิด

ข้อมูลอ้างอิง:
1) http://www.sakaeo.go.th/royalproject/projectforest.html โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระแก้ว
2) http://www.rdpb.go.th/…/20-50project/50project_4_1.html สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
3) http://www.5provincesforest.com มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด


ตอนที่ 4/9 การแก้ปัญหาช้างป่า

ช้างถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมายาวนาน ในสมัยก่อนเราใช้ช้างเป็นพาหนะ ใช้แรงงาน ใช้ในการศึกสงคราม ใช้ในงานพระราชพิธี ใช้สร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ และเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเคยใช้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ช้างเป็นสัตว์ที่มีโครงร่างขนาดใหญ่ พบได้ในทุกภาคของประเทศไทยกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลาย ๆ แหล่ง ช้างจัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง เนื่องจากมีกระดูกสันหลังอยู่แกนกลางลำตัว ถ้าเราสังเกตลักษณะเฉพาะที่สังเกตได้และจำแนกสัตว์มีกระดูกสันหลังออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ จะสามารถจำแนกสัตว์มีกระดูกสันหลังได้หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลา กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน กลุ่มนก และกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

โดยช้างจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เนื่องจากมีต่อมน้ำนมที่ใช้เป็นอาหารให้แก่ลูกช้าง (สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำแนกสัตว์อย่างง่าย ๆ ได้ในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป.4 เล่ม 1)

ปัจจุบันช้างถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species, IUCN 2013) ซึ่งเกิดจากการทำลายพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การรบกวนถิ่นที่อยู่และการล่าเอางา ทั้งนี้ พระพันปีหลวงทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาที่เกิดกับช้างไทย จึงได้เกิดโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรีเพื่อช่วยเหลือช้างป่า เป็นการเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของช้างป่าและสัตว์อื่น ๆ รวมถึงลดปัญหาช้างป่าออกมากินพืชผลทางการเกษตร

ข้อมูลอ้างอิง:
1) หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป.4 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
2) คู่มือความรู้เรื่องช้างและข้อควรปฏิบัติตนเมื่อพบช้างป่า กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปี พ.ศ. 2557
3) โครงการแก้ปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์ http://www.rdpb.go.th/th/Projects/แนะนำโครงการ-c38/โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริ-จังหวัดปร-v10874


ตอนที่ 5/9 การลาดยางถนน

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพสกนิกรไทย โดยปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระองค์จำนวนหลายร้อยโครงการครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งการพัฒนาด้านคมนาคม/การสื่อสาร เช่น โครงการลาดยางถนนคันกั้นน้ำบ้านศรีพงัน-ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโน๊ะ

โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการคมนาคมและขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของราษฎรในตำบลเกาะสะท้อน 9 หมู่บ้าน ตำบลโฆษิต 5 หมู่บ้าน และตำบลพร่อน 5 หมู่บ้าน แล้ว ยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างตำบลเกาะสะท้อนกับตำบลโฆษิตได้ตลอดปี

การลาดยางถนนเพื่อทำถนนลาดยางอาจทำได้โดยใช้ยางมะตอยที่เหลว เทราดในถนนที่อัดแน่นด้วยหินบด โดยยางมะตอยที่ว่านี้ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ “asphalt” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้จากการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบ

ยางมะตอยเป็นสารประกอบอินทรีย์ (organic compound) ประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยธาตุคาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) เป็นส่วนประกอบหลัก และอาจมีธาตุอื่น ๆ ด้วย เช่น ไนโตรเจน (N) ออกซิเจน (O) กำมะถัน (S) ยางมะตอยมีจุดเดือดจุดหลอมเหลวสูง มีลักษณะเป็นของเหลวหนียวหนืดสีดำ ยางมะตอยนิยมนำมาลาดยางถนนเนื่องจากมีสมบัติในการประสานระหว่างวัสดุ เช่น หิน ทราย ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ไทยได้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับการลาดยางถนน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และให้ถนนมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น เช่น การผลักดันให้มีการใช้ยางพาราผสมกับยางมะตอยสำหรับสร้างและซ่อมถนน ซึ่งจากการวิจัยพบว่ายางพาราช่วยเสริมความแข็งแรงให้ถนน ผิวถนนไม่เยิ้มเหนียวเหมือนใช้ยางมะตอยล้วน ช่วยลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงเมื่อเทียบกับถนนยางมะตอยปกติ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำซึ่งส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างความโชคดีของพสกนิกรชาวไทยใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ รวมทั้งการยกตัวอย่างการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

ข้อมูลอ้างอิง:
1) ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพิจิตร https://phcjc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/12137/iid/255884
2) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิสถาบันพลาสติก http://rubber.oie.go.th/box/Article/46746/เชิงลึก ถนนยาง%202559.pdf
3) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2562). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์กายภาพ เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) https://projects.rdpb.go.th/projects/4594281989799936
5) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) http://km.rdpb.go.th/Project/View/8135


ตอนที่ 6/9 นาข้าวขั้นบันได

โครงการนาข้าวขั้นบันได โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาการเกษตร สถานีเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านกอก – บ้านจูน

การปลูกข้าวแบบนาขั้นบันได เป็นวิธีการหรือเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน และเก็บกักน้ำในพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่การเกษตรที่มีความลาดชัน

การผลิตข้าวบนที่สูงมี 2 ระบบ คือ
1) ข้าวไร่ จะปลูกบริเวณไหล่เขาที่ลาดชันตั้งแต่ 5 – 60 องศา อาศัยความชื้นจากน้ำฝนในการปลูก ซึ่งต้องเพียงพอตลอดฤดูปลูก และใช้พันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง แต่ละพันธุ์สามารถใช้ปลูกได้เฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมกับพันธุ์นั้น ๆ พื้นที่ปลูกไม่มีคันนาสำหรับกักเก็บน้ำในแปลงปลูก แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ
1.1 ระบบการทำไร่เลื่อนลอย โดยการถางและเผาก่อนเตรียมดิน จากนั้นจึงเพาะปลูกจนดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ แล้วค่อยย้ายไปพื้นที่ใหม่โดยไม่กลับมาใช้พื้นที่เดิมอีก
1.2 ระบบการทำไร่หมุนเวียน โดยการเตรียมดินด้วยการถางและเผาไร่สำหรับปลูกพืชเพียง 1 – 2 ปี แล้วปล่อยที่ดินให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติประมาณ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน

2) ข้าวนาที่สูง เป็นนาขั้นบันไดบริเวณที่ราบไหล่เขาหรือระหว่างหุบเขาที่ความสูงประมาณ 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีการทำคันนาสำหรับกับเก็บน้ำ มีกระบวนการทำนาคือ เตรียมดิน ตกกล้า ไถ คราด ทำเทือก และปักดำ (เหมือนทำนาพื้นที่ราบทั่วไป) จึงถือว่านาขั้นบันไดเป็นระบบการเกษตรบนภูเขาที่ยั่งยืนในระดับไร่นา และปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับพื้นที่ปลูกข้าวไร่เป็นข้าวนาขั้นบันไดอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาวิธีการเพาะปลูกข้าวนาขั้นบันได มีการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวนาที่สูง ในพื้นที่โครงการพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ที่จะได้อยู่อาศัยร่วมกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้และแหล่งต้นน้ำลำธารได้อย่างยั่งยืนตลอดไป ซึ่งการปลูกข้าวแบบขั้นบันได เป็นวิธีการหรือเทคโนโลยีระดับพื้นฐานที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน และเก็บกักน้ำในพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่การเกษตรที่มีความลาดชัน

โครงการพัฒนาบ้านกอก – บ้านจูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการส่งเสริมการปลูกข้าว เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจัดการดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของราษฎรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง และเพื่ออนุรักษ์และจัดการดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ความสำเร็จของโครงการฯ คือ มีการส่งเสริมการปลูกข้าว จากเดิมเคยปลูกข้าวไร่หมุนเวียนเปลี่ยนเป็นการปลูกข้าวแบบนาขั้นบันได โดยให้ราษฎรขุดนาเอง ได้ผลผลิตและค่าตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ ทั้งยังเป็นการใช้พื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วย

ข้อมูลอ้างอิง:
1) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงศึกษาธิการ. (2560). หนังสือเรียนรายวิชา พื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระเทคโนโลยี (การออกแบบและเทคโนโลยี) ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1. กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริม การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.
2) สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2555). เทคโนโลยีการปลูกข้าวไร่อย่าง ยั่งยืน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
3) ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตร และสหกรณ์. (2553). เทคโนโลยีการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง. เชียงราย : โรงพิมพ์ เอ.พี.คอม.


ตอนที่ 7/9 โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เป็นโครงการที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง ซึ่งได้รับความเสียหายจากการทำกิจกรรมของมนุษย์จนทำให้แนวปะการังถูกทำลายและลดจำนวนลง

การฟื้นฟูสัตว์น้ำในโครงการนี้จะเป็นการสร้างปะการังเทียม ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ โดยการใช้วัสดุ เช่น แท่งคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ซากเรือ รถยนต์และตู้รถไฟที่ไม่ใช้งานแล้วเป็นปะการังเทียม เพื่อให้สัตว์ทะเลมีแหล่งที่อยู่และกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลักษณะ รูปร่างและโครงสร้างต่าง ๆ หลายรูปแบบ มารวมอยู่กันจำนวนมากเกิดเป็นแนวปะการัง ซึ่งแนวปะการังนี้เป็นแหล่งหากิน หลบภัย อาศัย หรือสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเลนานาชนิด

ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มีหลายแบบ ตัวอย่างเช่น
1) ความสัมพันธ์แบบภาวะพึ่งพากัน (mutualism) เช่น ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเลที่ปลาการ์ตูนจะใช้ดอกไม้ทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หลบภัยและวางไข่ ส่วนดอกไม้ทะเลก็ได้รับเศษอาหารจากปลาการ์ตูนและจับสัตว์น้ำที่เข้ามาใกล้ดอกไม้ทะเลเพื่อล่าปลาการ์ตูนเป็นอาหาร
2) ความสัมพันธ์แบบภาวะอิงอาศัย (commensalism) เช่น เหาฉลามกับปลาฉลามวาฬหรือเต่าทะเลที่เข้ามาหากินบริเวณแนวปะการัง โดยปลาเหาฉลามจะได้รับเศษอาหารจากปลาฉลามวาฬหรือเต่าทะเล ในขณะที่ปลาฉลามวาฬหรือเต่าทะเลไม่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์

แนวปะการังนอกจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและมีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตหลายรูปแบบ แนวปะการังยังเป็นแนวป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นและกระแสน้ำอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง:
1) ประมงไทยใต้ร่มพระบารมี เทิดไท้พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตอน ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล https://www4.fisheries.go.th/dof/news_local/1210/117469
2) ปะการัง ปราการด่านสุดท้ายของระบบนิเวศ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ http://www.rspg.or.th/articles/coral/coral2.htm


ตอนที่ 8 -9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: “เขื่อนสิริกิติ์” เขื่อนแม่ของแผ่นดิน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: “เขื่อนสิริกิติ์” เขื่อนแม่ของแผ่นดิน

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565 สสวท. ได้จัดทำสื่อเฉลิมพระเกียรติในหัวข้อ “90 พรรษา
9 โครงการสำคัญ” วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับโครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระบรมราชชนนี
พันปีหลวง เรื่องที่ 8/9 “เขื่อนสิริกิติ์” เขื่อนแม่ของแผ่นดิน

เป็นที่ยอมรับกันดีว่าในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง การป้องกันอุทกภัย การลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมถึงการผลักดันให้เกิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) เช่น เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

การสร้างเขื่อน (Dam) เป็นแนวทางหนึ่งที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาดังกล่าวและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากเขื่อนสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การชลประทาน การป้องกันอุทกภัย ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานจากน้ำ (พลังงานจากน้ำเป็นพลังงานสะอาด) การคมนาคม การประมง นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาหรือปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขื่อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งสันทนาการที่ส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย  คำว่า “เขื่อน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึงเครื่องป้องกันไม่ให้ดินริมนํ้าพัง สิ่งที่สร้างขึ้นขวางกั้นลำนํ้าเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในทางชลประทาน เขื่อนอาจแบ่งตามวัสดุที่นำมาสร้างเขื่อนได้ดังนี้

1. เขื่อนถม (Embankment Dam) อาจแบ่งเป็น

  • เขื่อนดินถม: วัสดุที่นำมาสร้างเขื่อนดินถมส่วนใหญ่เป็นดิน เขื่อนดินถมที่พบโดยทั่วไป เช่น
    “เขื่อนดินเนื้อเดียว” โดยวัสดุที่นำมาสร้างเขื่อนชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นดินชนิดเดียวกันทั้งหมด และ “เขื่อนดินแบ่งส่วน” โดยเขื่อนชนิดนี้มีการใช้ชนิดของดินและองค์ประกอบอื่น ๆ แตกต่างกันไป
    ในแต่ละส่วนหรือโครงสร้างเขื่อน
  • เขื่อนหินถม: วัสดุที่นำมาสร้างเขื่อนส่วนใหญ่เป็นหิน ที่พบโดยทั่วไป เช่น เขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว

2. เขื่อนคอนกรีต (Concrete Dam) เป็นเขื่อนที่สร้างด้วยวัสดุคอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุผสมที่ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย ซีเมนต์หรือปูนซีเมนต์ หิน ทราย กรวด น้ำ  และอาจจะมีสารเคมีบางชนิดผสม เพื่อเพิ่มสมบัติในด้านอื่น ๆ  เขื่อนประเภทนี้จำเป็นต้องมีชั้นหินฐานรากที่แข็งแรงมาก รับนํ้าหนักได้ดี ชนิดของเขื่อนคอนกรีต เช่น เขื่อนคอนกรีตแบบถ่วงน้ำหนัก (Gravity Dam) บางครั้งเรียกว่าแบบฐานแผ่  เขื่อนคอนกรีตแบบโค้ง (Arch Dam) เขื่อนประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นรูปโค้ง อาจเป็นแบบโค้งทางเดียว (โค้งในแนวราบ) หรือโค้งสองทาง (โค้งในแนวราบและแนวดิ่ง)  เขื่อนคอนกรีตแบบค้ำยันหรือแบบครีบ (Buttress dam) เขื่อนประเภทนี้มีลักษณะเป็นรูปแผ่นคอนกรีตและมีค้ำยันด้านหลัง

แม้ในประเทศไทยจะมีการสร้างเขื่อนไว้หลายที่และมีเขื่อนหลายประเภทเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทานหรือในด้านอื่น ๆ แต่มีอยู่เขื่อนหนึ่งที่ถูกขนานนามว่า “เขื่อนแม่ของแผ่นดิน” นั่นคือ “เขื่อนสิริกิติ์” เขื่อนนี้เป็นเขื่อนดินถมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแห่งนี้สร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ “เขื่อนผาซ่อม” ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า  “เขื่อนสิริกิติ์” โดยในวันที่ 4 มีนาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้า ตลอด 45 ปีที่ผ่าน ประชาชนชาวไทยได้ใช้ประโยชน์จากเขื่อนสิริกิติ์ ไม่ใช่เพียงแค่ประโยชน์ด้านชลประทาน และการผลิตไฟฟ้าด้วย “พลังน้ำ” ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดแล้ว การก่อเกิดของเขื่อนสิริกิติ์ ยังเป็น “พลังชีวิต” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานให้กับบ้านห้วยต้าซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่อยู่เหนือสุดของ จ.อุตรดิตถ์ ให้มีงานมีอาชีพและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2565).  45 ปี “เขื่อนสิริกิติ์” สืบสานสายน้ำแห่งการถักทอ. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.egat.co.th/home/20220305-art01/.
  2. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554).  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565, จาก https://dictionary.orst.go.th/.
  3. สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565).  ประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565, จาก https://sdgs.nesdc.go.th/.
  4. iEnerGuru. (2015). เขื่อน แหล่งกักเก็บพลังงานน้ำ.  สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565, จาก https://ienergyguru.com/2015/10/dam-and-hydro-electricity/

ตอนที่ 9/9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ (FOOD BANK)

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : เรื่องที่ 9/9 โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ (FOOD BANK)

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก และ ทราบข้อมูลจากสหประชาชาติว่าในอนาคตโลกของเรา จะประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและ ปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากการเพิ่มประชากรของโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงพระราชทาน โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ (Food Bank) เพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชนให้มีบริโภคประจำวันและหมุนเวียนตลอดปี ตอบสนองความต้องการปัจจัยสี่ของมนุษย์ ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่มและยารักษาโรค เป็นทั้งอาหารของคนและสัตว์ ได้ประโยชน์ใช้สอย และสร้างรายได้ เมื่อชุมชนเห็นประโยชน์ของป่า ก็จะเกิดความรัก หวงแหนและดูแลผืนป่า เกิดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุกรรมของพืชบนพื้นที่สูงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่เป็นแหล่งน้ำและอาหารต่อไป

การที่อาหารมีความสำคัญมากก็เพราะว่า อาหารมีความสำคัญต่อร่างกายของมนุษย์ ช่วยให้เรามีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และเจริญเติบโต รวมทั้งซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยในอาหารประกอบไปด้วยสารอาหาร (nutrient) แบ่งได้เป็น 6 ประเภท และให้ประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกัน ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ ดังนั้นเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อที่จะได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ที่มา:

·  อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (2565)
·  หนังสือเรียน สสวท. ป.6  อาหารและสารอาหาร
·  Project 14 : https://www.youtube.com/watch?v=ZtbQ12CIB64

ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content