กุสตาฟว์-กัสปาร์ คอริออลิส (Gustave-Gaspard Coriolis)

รู้หรือไม่? ทิศทางของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เราได้ยินบ่อยครั้งในข่าวพยากรณ์อากาศนั้น เป็นผลมาจากแรงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แรงคอริออลิส” ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก

แรงคอริออลิส คืออะไร

๐ แรงคอริออลิส ส่งผลต่อโลกอย่างไร

แรงคอริออลิส ชื่อนี้มาจากไหน

ในธรรมชาติอากาศมีการเคลื่อนที่เบนไปจากทิศทางเดิมได้ เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลกทำให้เกิดแรงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แรงคอริออลิส (Coriolis force) ซึ่งมีผลทำให้ทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศเบนไปจากทิศการเคลื่อนที่เดิม

โดยในซีกโลกเหนือเมื่อสังเกตไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศ จะพบว่าทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศเบนไปทางขวาของทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศขณะที่โลกไม่หมุน ส่วนในซีกโลกใต้จะเกิดขึ้นในลักษณะตรงกันข้าม

นักวิทยาศาสตร์พบว่าแรงคอริออลิสมีความสัมพันธ์กับละติจูดและอัตราเร็วของวัตถุ โดยบริเวณศูนย์สูตรแรงคอริออลิสมีค่าเท่ากับศูนย์และมีค่าเพิ่มขึ้นตามละติจูดที่สูงขึ้น และแรงคอริออลิสจะมีค่ามากขึ้นเมื่ออัตราเร็วของวัตถุเพิ่มขึ้น

โดยอากาศที่เคลื่อนที่จากบริเวณละติจูด 60 องศา จะมีทิศทางเบนไปจากเส้นทางเดิมมากกว่าที่ละติจูด 30 องศา ส่วนที่บริเวณศูนย์สูตรจะไม่เบนออกจากทิศทางเดิม ด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้ทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนมีลักษณะเป็นแนวโค้ง และยังพบอีกว่า ที่บริเวณตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรถึงละติจูดที่ 5 องศา มีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนน้อยมาก เนื่องจากที่บริเวณดังกล่าวแรงคอริออลิสมีค่าน้อยจนมีค่าเท่ากับศูนย์ที่บริเวณศูนย์สูตร

เกร็ดน่ารู้ 21 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของ กุสตาฟว์-กัสปาร์ คอริออลิส (Gustave-Gaspard Coriolis) นักคณิตศาสตร์และวิศวกรชาวฝรั่งเศส ผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อ “แรงคอริออลิส” โดยคอริออลิสได้ศึกษาและอธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุบนพื้นผิวที่มีการหมุน ซึ่งต่อมาความรู้ในเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์

อ้างอิง

1) หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ม.6 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)

2) หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ เล่ม 3 ม.5 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)


ส่งข้อความถึงเรา