การรักษาข้อมูลส่วนตัว เรื่องใกล้ตัวที่แม้แต่เด็กก็ควรรู้

เชื่อหรือไม่? เราทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเหมือน ๆ กันนั่นคือ “ข้อมูลส่วนตัว” ซึ่งข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคนก็แตกต่างกันและเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้สำคัญมาก (ก.ไก่ ล้านตัว) ใคร ๆ ก็อยากได้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่หากข้อมูลส่วนบุคคลของเราตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดีหรือมีเจตนาคิดร้าย ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่เรื่องราวร้าย ๆ ที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้ OMG!

ในกฎหมาย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้แบ่งข้อมูลส่วนบุคคลออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) หรือข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ตัวอย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น เลขประจำตัวประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต ที่อยู่ อีเมล์ เลขโทรศัพท์ ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ฯลฯ

2. ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (Sensitive Personal Data) เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ

ไม่ใช่ทุกข้อมูลที่เราสามารถบอกแก่ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก ทุกคนลองมาดูสถานการณ์สมมติสำหรับเด็ก ๆ กัน  

สมมติว่าเราเป็นนักเรียน ป.2 ที่กำลังไปทัศนศึกษาเดินป่ากับทางโรงเรียน แล้วคุณครูกลัวเด็กนักเรียนจะพลัดหลงหายตัวไป จึงให้นักเรียนทุกคนใส่ป้ายชื่อพร้อมกรอกรายละเอียดส่วนตัวที่จำเป็น เพื่อให้คนที่พบเจอสามารถนำนักเรียนมาส่งหรือติดต่อกลับได้ พวกเราจะเขียนข้อมูลส่วนตัวอะไรลงไปบ้างนะ…?

ข้อมูลส่วนตัวของเรา (นักเรียน ป.2) ข้อมูลไหนที่บอกคนอื่นได้?

ข้อมูลส่วนตัวที่เราสามารถบอกคนอื่นได้ในกรณีนี้ เช่น ชื่อนักเรียน ชั้นเรียน โรงเรียน ชื่อคุณครู หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อคุณครู เป็นต้น

แต่ข้อมูลส่วนตัวที่เราไม่ควรบอกใคร นอกจากคนที่ไว้ใจได้ เช่น หมายเลขประจำตัวประชาชน เลขที่บ้าน ทะเบียนรถ เลขบัญชีธนาคาร รหัสผ่านต่าง ๆ หมายเลขโทรศัพท์ผู้ปกครอง อาหารที่ชอบ กรุ๊ปเลือด ที่ซ้อนของสำคัญ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญไม่ควรเปิดเผยให้ใครทราบ เพราะอาจสร้างความเสียหาย หรือมีคนติดตามมาที่บ้านของเราได้

ทั้งนี้ แต่ละสถานการณ์ก็มีข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญแตกต่างกันออกไป ซึ่งหากจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแก่บุคคลอื่น ควรพิจารณาเปิดเผยเฉพาะผู้ที่น่าไว้ใจเท่านั้น เพราะถ้าข้อมูลส่วนตัวของเราตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดีก็อาจจะเช่นนี้ได้

  • ถ้าแก๊งลักเด็กรู้ที่อยู่ของเรา ก็อาจจะมาลักพาตัวเด็กที่บ้านไปขายได้
  • ถ้าโจรรู้ว่าเรามีทรัพย์สินมีค่าอะไรบ้าง ก็อาจจะมาขโมยของที่บ้านเราได้
  • หากมิจฉาชีพรู้รหัสกดเงินสดของเรา ก็อาจจะขโมยบัตรไปกดเงินสดที่ตู้ ATM ได้อย่างง่ายดาย
  • หากคนร้ายรู้ข้อมูลในบัตรประชาชนของเรา ก็อาจจะสวมรอยเป็นเรา หรืออาจหาวิธีการกลั่นแกล้งเราได้

เห็นมั้ยครับว่าอันตรายจากการเปิดเผยข้อมูลนั้นน่ากลัวมาก ดังนั้น เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเราเท่าที่จำเป็น ยิ่งเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักยิ่งต้องระมัดระวัง แต่ปัจจุบันมีการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวทางไซเบอร์ ซึ่งหากไม่รู้เท่าทันก็ยากที่จะป้องกันและสามารถตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย หากมีโอกาสแอดมินจะมานำเสนอเรื่องนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกันในโอกาสต่อไปครับ

เรียนรู้เพิ่มเติม เรื่อง การใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสมและรักษาข้อมูลส่วนตัว ผ่านบทเรียนออนไลน์ Project 14 : https://www.youtube.com/watch?v=ieE2Isnz3QQ

ขอบคุณข้อมูล : https://openpdpa.org/personal-data-type/


ส่งข้อความถึงเรา