
บางคนอาจเคยชมโฆษณาของการประปานครหลวงที่บอกว่า “น้ำประปาดื่มได้” ใช่ครับ…น้ำประปาดื่มได้ แต่ก็มีหลายคนบอกว่าไม่กล้าดื่มน้ำประปาเพราะน้ำมีกลิ่นคลอรีนแรงมาก และกลัวมีสารเคมีอื่น ๆ ปนเปื้อนมากับน้ำประปาด้วย
ความจริงแล้วน้ำประปาที่ผลิตจากโรงงานผลิตน้ำของการประปานครหลวงทุกแห่งได้มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก โดยกระบวนการการผลิตน้ำประปานั้นเริ่มตั้งแต่การทำให้น้ำตกตะกอนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องตันก่อนนำส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นต่อไป
การตกตะกอนสามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนและจุลินทรีย์ต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นน้ำจะถูกส่งผ่านไปยังกระบวนการกรองที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อกำจัดตะกอนและจุลินทรีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในน้ำ ทำให้น้ำใสมากยิ่งขึ้น จากนั้นนำน้ำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนเพื่อทำให้น้ำสะอาดยิ่งขึ้น
ในการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้น ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแล้วจะต้องหลงเหลือคลอรีนอยู่ในกระบวนการส่งน้ำไปถึงก๊อกของผู้ใช้น้ำ ดังนั้น ถ้าน้ำมีกลิ่นคลอรีนหลงเหลืออยู่เล็กน้อยก็ให้มั่นใจได้เลยว่าน้ำประปานั้นสามารถที่จะนำมาใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัยโดยปราศจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรค
ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกกำหนดว่าควรมีคลอรีนอิสระคงเหลือ (Residual Chlorine) ไม่น้อยกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือก่อให้เกิดโรคภัย แต่หากไม่ชอบกลิ่นคลอรีนก็สามารถแก้ไขได้ง่าย โดยการรองน้ำประปาแล้วตั้งทิ้งไว้สักครู่ (20-30 นาที) เพียงไม่นานกลิ่นคลอรีนก็จะจางหายไปหมด เนื่องจากคลอรีนเป็นแก๊สที่ระเหยได้เร็วมากนั่นเอง
รู้หรือไม่ ?
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝ่ายเยอรมันนำแก๊สคลอรีนมาใช้เป็นอาวุธเคมี โดยบรรจุลงในกระบอกโลหะแล้วนำออกไปตั้งรับที่แนวหน้า เมื่อกองทัพฝรั่งเศสบุกเข้าโจมตี ทหารเยอรมันก็เปิดฝาของกระบอกโลหะ กลุ่มควันที่มีสีขาวแกมเหลืองก็พวยพุ่งออกมา ทหารที่ได้รับแก๊สคลอรีนเข้าไปจะมีอาการคัน และอาเจียนเพราะความเหม็นของคลอรีนที่ส่งกลิ่นไปทั่วจนทำให้ไม่สามารถสู้รบได้ และต้องมีการคิดหน้ากากเพื่อป้องกันแก๊สคลอรีนในเวลาต่อมา
อ้างอิง หนังสือ: 100 ความเชื่อ 100 ความจริง (ลิขสิทธิ์จาก สสวท.)