
อาหารไทยเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติที่เผยแพร่และได้รับความนิยมทั่วโลก ในช่วงสามสี่ปีหลังที่มีการจัดอันดับอาหารของโลก เช่น CNN USNews TasteAtlas พบว่าอาหารไทยติดอันดับในแรงค์กิงต่าง ๆ ทุกครั้ง และความนิยมในอาหารไทยมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ตั้งแต่สตรีทฟู้ดจนถึงอาหารชาววังที่ถูกกล่าวถึงในบทกวีต่าง ๆ เหตุผลของความนิยมมาจากรสชาติที่หลากหลาย ตั้งแต่นุ่มนวลจนถึงเผ็ดร้อน ราคาเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการและส่วนประกอบของอาหารไทยนั้นเป็นสมุนไพรหลากหลายชนิดซึ่งมีคุณสมบัติทางยาอีกด้วย

แกงมัสมั่น

เมล็ดยี่หร่า
“มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง” จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แสดงให้เห็นถึงสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของแกงมัสมั่น ซึ่งเป็นอาหารไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากการจัดอันดับต่าง ๆ (TasteAtlas / CNN) ที่จริงแล้วพริกแกงมัสมั่นนั้นไม่ได้มีส่วนผสมเพียงแค่ยี่หร่าแต่มีสมุนไพรอีกมากเป็นส่วนประกอบ คือ พริกชี้ฟ้าทอด กระเทียมเจียว ข่า พริกไทย หัวหอมซอยเจียว ตะไคร้ซอย รากผักชี ลูกผักชี อบเชย ลูกกระวาน ดอกจันทน์ กานพลู ซึ่งเมื่อนำมาโขลกรวมกันและนำไปปรุงกับกะทิ ถั่วลิสง กลายเป็นแกงที่มีรสชาติที่โดดเด่น และแม้ว่าแกงจะมีความข้นมันเนื่องจากส่วนผสมของกะทิและถั่ว แต่ตัวสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของพริกแกงมัสมั่นเป็นตัวช่วยไม่ทำให้รสชาติเลี่ยนจนกินไม่ได้ นอกจากนี้จากการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะได้ศึกษาพริกแกงไทยที่คนไทยนิยมบริโภค 10 ชนิด และพบว่าน้ำพริกแกงมัสมั่นมีฤทธิ์ในการยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ของสารยูรีเทนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็วได้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับพริกแกงที่นำมาศึกษา

ผัดกะเพราราดข้าว

ใบกะเพรา
ผัดกะเพราเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมจากการจัดอันดับของ TasteAtlas เป็นอาหารสตรีทฟู้ดที่ปรุงง่าย และมีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากส่วนผสมของพริกกะเพรานั้นอุดมไปด้วยสมุนไพร ได้แก่ กระเทียม พริกขี้หนู หรือในบางสูตรผสมข่าลงไปเล็กน้อย รวมถึงตอนผัด ใส่กะเพราที่เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งลงไป ความโดดเด่นของอาหารจานนี้คือรสชาติที่ถูกปาก รวมถึงความเผ็ดร้อนที่สามารถควบคุมได้โดยการใส่พริกกระเทียมมาก-น้อยต่างกัน นอกจากนี้กะเพราที่ใส่ลงไปยังช่วยดับกลิ่นเนื้อสัตว์ เพิ่มความหอมให้กับอาหารและมีคุณสมบัติช่วยในการย่อยอาหาร ขับลม แก้จุกเสียด เป็นต้น

อาหารห้าหมู่
ทั้งนี้การบริโภคอาหารในหนึ่งมื้อ นอกจากแกงหรือผัดแล้ว ควรจะมีข้าวหรือคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่นรวมถึงผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบห้าหมู่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและเหมาะสมของมนุษย์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารอาหารที่ต้องการได้จาก https://proj14.ipst.ac.th/p6/p6-sci-book1/sci-p6b1-001/ รวมถึงกิจกรรมเพื่อทดสอบว่าเราทานอาหารเหมาะสมหรือไม่ในแต่ละวัน https://proj14.ipst.ac.th/p6/p6-sci-book1/sci-p6b1-002/ จากหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป.6 เล่ม 1
อ้างอิง :
ภาพข้าวกะเพราไข่ดาว Photo by Vicky Ng: https://unsplash.com/photos/fried-rice-with-sunny-side-up-egg-on-gray-ceramic-plate-NT5oqzp-050
ภาพใบกะเพรา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tulsi_or_Tulasi_Holy_basil.jpg#/media/ไฟล์:Tulsi_or_Tulasi_Holy_basil.jpg