
“มวยไทย” เป็นหนึ่งใน soft power ที่รัฐบาลพยายามผลักดันเพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมวยไทยมีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกำลังให้ความสนใจ
มวยไทยมีจุดเริ่มต้นจากการใช้เป็นศิลปะป้องกันตัวในระยะประชิด โดยมีการใช้อาวุธหรือที่เรียกว่า “ออกอาวุธ” ทั้ง 8 ได้แก่ หมัด (2) ศอก (2) เข่า (2) และเท้า (2) ซึ่งนอกจากความแข็งแรงแล้ว นักกีฬายังต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล ความคล่องตัว ความอ่อนตัว และความทนทาน
การชกมวยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูงมาก ซึ่งพลังงานที่ใช้ในระหว่างการชกมาจากอาหารที่นักมวยรับประทานเข้าไป โดยอาหารเหล่านั้นจะเดินทางผ่านระบบทางเดินอาหารภายในร่างกาย และถูกย่อยทั้งเชิงกลและเชิงเคมีจนได้สารโมเลกุลเล็กที่พร้อมถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้ในกระบวนการหายใจระดับเซลล์ เพื่อให้ได้สารประกอบพลังงานสูงที่เรียกว่า ATP (adenosine triphosphate) สำหรับให้ร่างกายนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ
กีฬามวยไทยกำหนดรูปแบบการชกเป็น 5 ยก หรือในบางรายการกำหนดเป็น 3 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที โดยในระหว่างการชกนักมวยไทยไม่ได้ออกอาวุธตลอดเวลา มีบางจังหวะที่นักมวยคอยรอจังหวะเพื่อดูชั้นเชิง บางจังหวะมีการออกอาวุธอย่างต่อเนื่อง รุนแรง และรวดเร็ว รวมถึงมีการนั่งพักเหนื่อยระหว่างยกด้วย ซึ่ง กระบวนการหายใจระดับเซลล์เพื่อสร้างพลังงานในระหว่างการชกจะเกิดขึ้น 2 รูปแบบ ได้แก่ การหายใจระดับเซลล์ในภาวะที่มีออกซิเจนเพียงพอ (ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นักมวยพัก รอจังหวะดูชั้นเชิง ซึ่งเลือดสามารถลำเลียงออกซิเจนเพื่อให้เซลล์ใช้ในการสลายสารอาหารได้เพียงพอ) และการหายใจระดับเซลล์ในภาวะที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอ (ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นักมวยออกอาวุธที่รวดเร็วและรุนแรง หรือออกอาวุธอย่างต่อเนื่องและหลากหลายท่า ซึ่งเซลล์มีความต้องการ ATP ในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนเพื่อให้เซลล์ใช้ในการสลายสารอาหารได้ทัน)
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหายใจระดับเซลล์ :
1) หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชีววิทยา ชั้น ม.4 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
2) บทเรียนออนไลน์ Project 14 https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m4-bio-book1/bio-m4b1-021/
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1) https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=4259&context=chulaetd