
ช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อนแบบนี้ ท้องฟ้าดูขมุกขมัวไม่ค่อยสดใส เหมือนมีหมอกจาง ๆ ปกคลุมอยู่ทั่วท้องฟ้า แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งมีปริมาณมากเกินระดับมาตรฐาน โดยหลายปีมานี้เราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับ PM 2.5 อยู่บ่อยครั้งจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน และหลายคนใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่มีหรือยังไม่พบปัญหาอะไร สรุปแล้ว PM 2.5 คืออะไร อันตรายหรือไม่ และมีวิธีป้องกันตัวเองจาก PM 2.5 อย่างไร
PM 2.5 คืออะไร?
PM 2.5 (Particulate Matter less than 2.5 microns in diameter) คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพูดให้เห็นภาพชัดคือ PM 2.5 มีขนาดเล็กประมาณเพียง 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ซึ่งการที่ PM 2.5 มีขนาดที่เล็กมากเช่นนี้เอง ทำให้ขนจมูกของเราไม่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ ดังนั้น เมื่อเราหายใจเอาอากาศเข้าไปก็จะได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายไปด้วย ซึ่ง PM 2.5 นี้สามารถผ่านเข้าไปยังถุงลมปอด ผ่านเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายตัวไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพหลายประการ เช่น
1. ถ้าได้รับ PM 2.5 ในระยะสั้น อาจทำให้มีอาการเยื่อบุตาอักเสบ แสบตา ระคายเคืองตา ตาแห้ง ตาแดง แสบจมูก
2. ถ้าได้รับ PM 2.5 ปริมาณมากและยาวนาน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำางานของปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง รวมถึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต
3. คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรัง อาจเกิดอาการกำเริบของโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง
4. คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง อาจเกิดอาการกำเริบของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
PM 2.5 กับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) สาเหตุสำคัญเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุสำคัญของคนกลุ่มหลังนี้มาจากปัญหามลภาวะทางอากาศที่ปนเปื้อนแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) รวมถึงฝุ่น PM 2.5 หากอาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสหรือ PM 2.5 ปนเปื้อนเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดได้ PM 2.5 มีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโครคาร์บอน ที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าการได้รับ PM 2.5 ในปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีค่าเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ถึงแม้ความเสี่ยงของ PM 2.5 ต่อมะเร็งปอดจะไม่มากเท่าการสูบบุหรี่ แต่หากได้รับ PM 2.5 ในปริมาณมากเป็นเวลานานก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้
เราสามารถปองกันตัวเองจาก PM 2.5 ได้อย่างไร?
เมื่อต้องออกนอกบ้านในขณะที่ค่า PM 2.5 ในอากาศสูงเกินระดับมาตรฐาน ควรใช้หน้ากากอนามัยแบบที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 หน้ากาก FFP1 หน้ากาก Super 3D แต่หากไม่สามารถจัดหาได้ อาจใช้หน้ากากทางการแพทย์ 2 แผ่นทดแทนได้ หน้ากากทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวมา นอกจากจะสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้แล้ว ยังสามารถป้องกันไวรัส COVID-19 ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้หน้ากากอนามัยควรสวมใส่อย่างถูกวิธีเพื่อให้สามารถป้องกัน PM 2.5 หรือป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ปัญหา PM 2.5 เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ทั่วโลก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝ่าย ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เรารวมถึงลูกหลานของเราทุกคนได้มีอากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข