โคเลาส์ โคเปอร์นิคัส ผู้เสนอแนวคิด “ระบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง” ล้มล้างความเชื่อเก่านับพันปี

นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2016 ที่เมืองตูรัน ประเทศโปแลนด์ โคเปอร์นิคัสเป็นนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (อยู่ร่วมยุคเดียวกับเลโอนาร์โด ดา วินชี และการกำเนิดศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์) โคเปอร์นิคัสเป็นผู้เสนอแนวคิดและแบบจำลองที่เรียกว่า “ระบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง” ซึ่งหักล้างความเชื่อเดิมที่มีมาหลายพันปีว่า “โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ และมีดาวดวงอื่น ๆ รวมถึงดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก”

ตั้งแต่สมัยโบราณคนส่วนใหญ่มีความเชื่อตามแนวคิดของปโตเลมี (Ptolemy) ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพโดยมีดาวอื่น ๆ โคจรรอบโลก เรียกว่า ระบบโลกเป็นศูนย์กลาง (geocentric system) จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2086 (ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งอาณาจักรอยุธยา) โคเปอร์นิคัสได้เสนอแนวคิดใหม่จากการสังกตและการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางที่มีโลกและดาวเคราะห์อื่น ๆ โคจรโดยรอบ เรียกว่า ระบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง (heliocentric system) ซึ่งล้มล้างความเชื่อที่เก่าแก่หลายพันปีที่ว่า “โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ และมีดาวดวงอื่น ๆ รวมถึงดวงอาทิตย์โคจรรอบ”

ก่อนหน้าที่โคเปอร์นิคัสจะเสียชีวิตไปไม่นาน หนังสือของเขาที่ชื่อว่า “De revolutionibus orbium coelestium” หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า “On the Revolutions of Heavenly Spheres” ได้ถูกตีพิมพ์ออกมา และมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นตามมา นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์โลก

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาลที่โคเปอร์นิคัสค้นพบ โดยสามารถสรุปเป็นทฤษฎี 3 ข้อ ดังนี้

        1. ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล โดยมีโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 1 ปี หรือ 365 วัน ซึ่งก่อให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก

        2. โลกมีสัณฐานกลมไม่ได้แบนอย่างที่เข้าใจ (ในยุคนั้น) โคเปอร์นิคัสให้เหตุผลในข้อนี้ว่า มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นดาวดวงเดียวกันในเวลาเดียวกันและสถานที่ต่างกันได้ อีกทั้งโลกต้องหมุนอยู่ตลอดเวลาไม่ได้หยุดนิ่ง โดยโลกใช้เวลา 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมงในการหมุนรอบตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดกลางวันและกลางคืนขึ้นบนโลก

        3. ดาวเคราะห์ต่าง ๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเป็นวงกลม ซึ่งต่อมา โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ได้พบว่าทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสข้อนี้ผิดพลาด เนื่องจากการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์นั้นมีลักษณะเป็นวงรีไม่ใช่วงกลม

หลังจากที่โคเปอร์นิคัสเสียชีวิตลง ผลงานของก็เขาก็ได้รับความสนใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์บางส่วน แต่หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับแนวคิด “ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ” ได้ถูกศาสนจักรเพ่งเล็งว่าเป็นหนังสือนอกรีต ให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนบิดเบือนไปจากพระวจนะของพระเจ้าในพระคัมภีร์ไบเบิล

ผู้คนที่เชื่อในแนวคิดของโคเปอร์นิคัสอย่าง จิออร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) บาทหลวงผู้หลงใหลในเรื่องดาราศาสตร์ ได้ถูกจับไปประหารด้วยวิธีการเผาทั้งเป็น ภายใต้ฐานความผิดที่ว่าเขาประพฤติตัวนอกรีต นอกจากนี้ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชื่อเสียงก้องโลก ที่ออกตัวสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส ก็ต้องถูกกักบริเวณในบ้านพักไปตลอดทั้งชีวิตของเขาด้วยข้อหาประพฤติตัวนอกรีตเช่นเดียวกัน

แต่ทว่าในเวลาต่อมา เคปเลอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของโคเปอร์นิคัสนั้นถูกต้อง (แต่ไม่ทั้งหมด) โดยการสร้างกฎเพื่ออธิบายการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์และเทหวัตถุบนท้องฟ้า โดยอาศัยข้อมูลจากการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่การพิสูจน์ของเคปเลอร์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อิทธิพลของศาสนจักรเริ่มเสื่อมถอยลงจากการปฏิรูปศาสนาในยุโรป

ต่อมาในยุคของ ไอแซค นิวตัน” (Isaac Newton) ได้มีการเสนอ “กฎความโน้มถ่วงสากล (law of universal gravitation)” ซึ่งได้เข้ามาเติมเต็มแนวคิดของโคเปอร์นิคัส และเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงเกี่ยวกับความเชื่อเดิมที่ว่า “โลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ” ไปตลอดกาล

โคเปอร์นิคัสถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในหลายสาขาวิชาทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ การแพทย์ กฎหมาย ปรัชญา ศาสนา ภาษา การทูต และดาราศาสตร์ ผลงานของโคเปอร์นิคัสได้ปฏิวัติความเชื่อใหม่ที่ถูกต้องให้กับวงการดาราศาสตร์โลก ช่วยกรุยทางในการศึกษาให้กับนักดาราศาสตร์รุ่นต่อมาได้ค้นคว้าและร่วมไขความลับของเอกภพที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

อ้างอิง :

1) หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฟิสิกส์ ม.4 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) บทที่ 1 ธรรมชาติและพัฒนาการทางฟิสิกส์

2) กรมวิทยาศาสตร์บริการ: http://siweb1.dss.go.th/Scientist/Scientist/Nicolaus%20Copernicus.html

3) ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี STKC: https://www.stkc.go.th/info/นักวิทยาศาสตร์-นิโคเลาส์-โคเปอร์นิคัส-nicolaus-copernicus

4) Thai PBS: https://www.thaipbs.or.th/news/content/324568


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content