ปังไม่มีตก “ขนมครก” สุดกร้าวใจ “มะพร้าว”เสน่ห์ไทยเรียนรู้ได้กับสื่อ สสวท.

ยกนิ้วให้เลยกับ ขนมครก ขนมอุ่น ๆ นุ่มนิ่ม หน้าตาแสนธรรมดาแต่รสชาติไม่ธรรมดาของบ้านเรา ที่ได้รับการจัดอันดับจาก เทสแอทลาส (Tasteatlas) เว็บไซต์อาหารระดับโลกยกย่องให้เป็นอันดับ 4 จากการจัดอันดับขนมประเภทแพนเค้กหรือคล้ายคลึงแพนเค้กจาก 50 ประเทศทั่วโลกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา

แถมยังครองอันดับ 1 ใน 7 ประเทศอาเซียนอีกด้วย

การันตีถึงอาหารไทย เสน่ห์ไทย ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปไกลระดับนานาชาติ

ปัจจัยเสริมส่งนอกจากฝีมือ ความเอาใจใส่พัฒนาและวัฒนธรรมอาหารของบ้านเราแล้ว ก็อาจเป็นเพราะบ้านเราอุดมด้วยวัตถุดิบและพืชผลการเกษตรคุณภาพ

 “มะพร้าว”  ซึ่งเป็นที่มาของ “กะทิ” หนึ่งในส่วนผสมสำคัญของขนมครกและขนมไทยอีกหลายชนิด มีผลผลิตป้อนชุมชนได้ต่อเนื่อง

รอบ ๆ ตัวเราจึงมีอาหารคาวหวานทั้งแกงกะทิ ขนมหวาน น้ำมะพร้าวขวัญใจนักท่องเที่ยว ตลอดจนเมนูหลากหลายที่มีกะทิเป็นพระเอก หรือ พระรอง ในส่วนผสม ทั้งมะพร้าวขูด มะพร้าวอ่อน ตกแต่งรูปโฉมให้สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น แกงกะทิ ห่อหมก ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวหลาม เต้าเจี้ยวหลน ฟักทองแกงบวด สาคูถั่วดำ ขนมต้ม ขนมตาล ตะโก้ บัวลอย หรือแม้กระทั่ง เค้ก ไอศกรีมฯลฯ

นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะพร้าวยังใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ไม้กวาดทางมะพร้าว กะลา มุงหลังคาด้วยใบมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว ของเล่น ของที่ระลึกสารพัดจากไม้มะพร้าว

เรียกว่า “มะพร้าว” มีประโยชน์อเนกประสงค์และใกล้ชิดกับชีวิตชาวบ้านมาช้านาน

หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ของ สสวท. จับมะพร้าวมาใส่ในบทเรียนชีววิทยา ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่ม 3 บทที่ 8 การสืบพันธ์ของพืชดอก พร้อมสื่อประกอบการเรียนรู้ “โปสเตอร์ดอกและผล” สื่อดิจิทัลใช้สะดวกที่ คลังความรู้ SciMath สสวท. https://www.scimath.org/desktop-application/item/9188-2018-10-29-03-04-26

สื่อการเรียนรู้ “โปสเตอร์ดอกและผล” แสดงโครงสร้างดอกและผลของพืชที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรา คือ ผลมะพร้าว กล้วย ข้าว ข้าวโพด และดอกชบา

สำหรับ “มะพร้าว” มีส่วนประกอบที่สำคัญได้แก่ ผลมะพร้าว ดอกมะพร้าว จาวมะพร้าว เมล็ดมะพร้าว กะลามะพร้าว โดยผนังผลชั้นนอกของผลมะพร้าวซึ่งมีสีเขียวเป็นมันนั้น จะมีผนังผลชั้นในนั่นก็คือ “กะลา”  

ส่วนผนัง “ผลชั้นกลาง” หรือ “กาบมะพร้าว” นั้นเป็นชั้นของเส้นใย เมื่ออ่อนจะเป็นสีขาวค่อนข้างนิ่ม จนเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลลักษณะเส้นใยหยาบ 

ภายในผลมะพร้าวคือ “น้ำมะพร้าว” และ “เนื้อมะพร้าว” ที่เราคุ้นเคยกันดี

ส่วนใครที่แพ้ความสูงอาจมองระยะไกลไม่ถนัด ก็ทำความรู้จัก “ดอกมะพร้าว” ได้  เพราะมีทั้งภาพพร้อมเนื้อหาอธิบายให้เห็นทั้งดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในช่อดอกเดียวกัน

สำหรับกะลาด้านที่อยู่ทางขั้วผลจะมีลักษณะเป็นหลุมเหมือนตา 3 ตา เมื่อ เอ็มบริโอ ซึ่งก็คือตัวอ่อนหรือต้นอ่อนของมะพร้าวก็จะเจริญออกมาทางตานี้นั่นเอง

แล้วมะพร้าวมี “จาว” ด้วยหรือ ?  หน้าตาเป็นอย่างไร

สื่อประกอบการเรียนรู้ “โปสเตอร์ดอกและผล”ตอบโจทย์ได้เพราะมาพร้อมทั้งภาพและเนื้อหาอธิบาย

ว่า “จาวมะพร้าว” มีผิวด้านนอกสีเหลืองอ่อน เนื้อเยื่อภายในมีลักษณะฟ่ามคล้ายฟองน้ำ ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารจากเอ็นโดสเปิร์มไปเลี้ยงเอ็มบริโอ

 ให้คำอธิบายพร้อมภาพประกอบเพื่อความเข้าใจเนื้อหาการสืบพันธ์ของพืชดอกชัดเจนยิ่งขึ้น

สื่อประกอบการเรียนรู้ “โปสเตอร์ดอกและผล” ใช้ในชั้นเรียนหรือทบทวนเสริมความเข้าใจได้สะดวกที่ คลังความรู้ SciMath สสวท. https://www.scimath.org/desktop-application/item/9188-2018-10-29-03-04-26

คลิกเรียนรู้กันแล้ว อย่าลืมมาแชร์ไอเดียเมนูจากมะพร้าวทั้ง “ของคาว” และ “ของหวาน” กันบ้าง หรือจะเป็นทั้งสองอย่างแถมด้วย “ของใช้” ก็ยิ่งดี 

แหล่งข้อมูล: https://btimes.biz/?s=ขนมครก


ส่งข้อความถึงเรา