
ค่า SPF และ PA ในเครื่องสำอางคืออะไร
ทำไมช่วงนี้รู้สึก hot จังเลย… ที่ hot ไม่ใช่แอดมินหรอกนะ แต่คืออากาศเมืองไทยต่างหากล่ะ ร้อนมากแม่ไม่ไหวแล้ว
เนื่องจากประเทศไทยได้รับแสงแดดที่มีความเข้มสูง โดยเฉพาะในเวลากลางวัน การอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังถูกเผาไหม้ เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน อักเสบ และมีไข้ได้
ดังนั้น เครื่องสำอางหลายชนิดในท้องตลาดจึงได้ผสมสารกันแดด เพื่อการปกป้องดูแลผิวให้สวยงามและสตรองตลอดทั้งวัน สารกันแดดในเครื่องสำอางแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีสมบัติสะท้อนรังสี UV และ กลุ่มที่มีสมบัติดูดซับรังสี UV
การระบุประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดด นิยมระบุด้วยค่า SPF และ ค่า PA
ค่า SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าระบุระดับการปกป้องผิวจากรังสียูวีบี UVB (ทำให้ผิวไหม้แดง/B=Burn) หมายถึงจำนวนเท่าของเวลาที่ผิวสามารถทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลตได้หลังจากทาครีมกันแดด ปกติผิวคนไทยโดยเฉลี่ยจะทนรังสี UV ได้นาน 15 นาที โดยไม่เกิดอาการไหม้แดด หมายความว่า หากทาครีมกันแดด SPF10 จะสามารถป้องกันรังสี UVB ได้นาน 10 เท่า หรือ 150 นาที (สำหรับผิวคนไทยส่วนใหญ่)
ค่า PA (Protection Grade of UVA) เป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่ป้องกันรังสี UVA (ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย/A=Aging) โดยเครื่องหมาย “+” แสดงถึง ความสามารถในการป้องกันรังสี UVA แบบเท่าตัว เช่น
PA+ สามารถป้องกันรังสี UVA 2 เท่า
PA++ สามารถป้องกันรังสี UVA 4 เท่า
PA+++ สามารถป้องกันรังสี UVA 8 เท่า
คำถามชวนคิด : แดดแรงอย่างเมืองไทย ยิ่งใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงยิ่งดี จริงหรือไม่?
ข้อควรรู้ :
วิธีการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดด ควรทาให้ทั่วใบหน้า แขน ขา และผิวกายนอกร่มผ้าอย่างสม่ำเสมอ และควรทาก่อนออกแดด 15-30 นาที ในกรณีที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัด ควรทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากครีมกันแดดอาจถูกชะล้างด้วยเหงื่อ แต่ในกรณีที่ไม่ถูกแดด ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมสารเคมีได้
อ้างอิง :
หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับความงาม ระดับ ม.ต้น (พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2560)