
“แมลงตัวนั้น ตัวนี้ มีเยอะมากมาย” ส่วนหนึ่งจากบทเพลงยอดฮิตในยุค 2000s ชื่อ “แมลง” ร้องโดยคุณทาทา ยัง แสดงให้เห็นถึงจำนวนที่มากมายของแมลงซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการว่ามีแมลงจำนวนมากถึง 90% ของจำนวนสปีชีส์ของสัตว์ทั้งหมดบนโลก นอกจากนี้ข้อมูลที่แสดงในเว็บไซต์ของ Royal Entomological Society ของสหราชอาณาจักรพบว่าได้ค้นพบแมลงมากกว่า 1 ล้านชนิด แต่จำนวนแมลงนั้นอาจมีมากกว่า 10 ล้านชนิดบนโลกใบนี้ ซึ่งเราพบแมลงได้แทบทุกที่บนโลก ตั้งแต่ถิ่นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมไปจนถึงทะเลทรายที่แห้งแล้งและร้อนที่สุดในโลก! ดังภาพจะเป็นตัวอย่างของชนิดของแมลงที่พบที่บ้านของชาวอเมริกันตามรายงานวิจัยของ Bertone และคณะในปี 2016 มันน่าทึ่งที่เราจะพบแมลงหลากชนิดมากแม้แต่ในบ้านคน
ภาพจาก Bertone, MA. et al. 2016. Arthropods of the great indoors: characterizing diversity inside urban and suburban homes. PeerJ 4:e1582 https://doi.org/10.7717/peerj.1582
โดยทั่วไปแมลงจะมีบทบาทในสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ไม่ว่าจะช่วยในการผสมเกสร บำรุงดิน สร้างผลผลิตเช่น น้ำผึ้ง กำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นดัชนีแสดงถึงความสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นยังนำแมลงมาเป็นอาหารของคนและสัตว์ด้วย ล่าสุดแม้ว่าเว็บไซต์ Tasteatlas จะมีการจัดอันดับอาหารทอดยอดแย่ของโลก 71 อันดับ ซึ่งหนอนไหมทอด (Deep fried silk worm) ของไทย ติดอันดับต้น ๆ ของการจัดอันดับ อย่างไรก็ดีรสนิยมการกินเป็นเรื่องของลางเนื้อชอบลางยา ในขณะที่มีคนไม่ชอบ แต่หลังจากที่ผลการจัดอันดับนี้ประกาศออกมา ผู้ค้าแมลงทอดในจังหวัดสตูลเล่าให้นักข่าวฟังว่ายอดขายหนอนไหมทอดเพิ่มขึ้นสองเท่าในแต่ละวันหลังจากข่าวการจัดอันดับดังกล่าวออกสู่สาธารณชนกันเลยทีเดียว
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากแมลง
ตลาดสำหรับแมลงเพื่อบริโภคกำลังเติบโตเนื่องจากแมลงเป็นแหล่งของสารอาหาร ไม่ว่าจะโปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งแมลงบางชนิดมีโปรตีนและแร่ธาตุสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่นิยมบริโภคในปัจจุบัน จึงมีผู้เสนอให้นำแมลงมาเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับอนาคตด้วย ตอนนี้อาหารจากแมลงเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากขึ้น เห็นได้จากบทความของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่าสหรัฐอเมริกานิยมบริโภคแมลงมากขึ้นด้วยเหตุผลด้านโภชนาการ และตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่นิยมบริโภคแมลงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยกลุ่มคนที่นิยมบริโภคจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน คนหนุ่มสาว และมักจะบริโภคทั้งในรูปแบบแมลงสดแช่แข็งเพื่อนำไปประกอบอาหาร หรือแบบทอด/อบสำเร็จที่พร้อมทาน หรือแม้แต่ผงโปรตีนแมลงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหารหรือขนม และแมลงที่ได้รับความนิยมในการบริโภคมาก คือ จิ้งหรีด รถด่วน ตั๊กแตน ดักแด้ ปลวก หนอนนก และจักจั่น ซึ่งการบริโภคแมลงนั้นทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่าแมลงสามารถบริโภคได้แต่ต้องได้มาตรฐานความสะอาด มีสลากที่แจ้งส่วนผสมอย่างชัดเจน ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ และอนุญาตเฉพาะแมลงเลี้ยงเท่านั้น ส่วนของกลุ่มผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกานั้นได้แนะนำให้พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์จากแมลงให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารว่าง/ขบเคี้ยว นอกจาสหรัฐอเมริกา ทางกลุ่มประเทศ EU นิยมบริโภคแมลงมากขึ้น เนื่องจากการที่กรรมาธิการยุโรปได้ยอมรับอาหารเทคโนโลยีใหม่ซึ่งได้เปิดโอกาสของอาหารจากแมลงมากขึ้น รายงานจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2564 ระบุว่าตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกเติบโตขึ้น 47% ในปี พ.ศ. 2563 โดยมีมูลค่าถึง 165 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาพจิ้งหรีด จากงานนำเสนอ https://www.opsmoac.go.th/loei-dwl-files-432791791230
และจากความนิยมรวมถึงการส่งออกที่พุ่งสูงขึ้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดทำการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติสนับสนุนให้บริโภคเนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่หาได้ง่ายและราคาย่อมเยา โดยตัวจิ้งหรีดถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายมาก มาตรฐานดังกล่าวจะเป็นการรับประกันแก่ผู้บริโภคว่าจิ้งหรีดที่ได้มีความปลอดภัย ซึ่งฟาร์มจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐานต้องอยู่ในพื้นที่เหมาะสมไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน มีผังฟาร์มที่ดีเป็นสัดส่วน ตัวฟาร์มแข็งแรง ทนทาน ทำความสะอาดง่าย ระบายอากาศดี และที่ฟาร์มต้องมีการคัดเลือกพันธุ์จิ้งหรีดที่มีคุณภาพ และมีการจัดการอาหารและน้ำสำหรับจิ้งหรีดที่สะอาด ปลอดภัย สำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากจิ้งหรีดแล้ว แมลงอื่น ๆ ที่มีรายงานนำมาเป็นอาหารหรือใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น หนอนไหม ผึ้งพันธุ์ (บริโภคทั้งน้ำผึ้งและตัวอ่อนผึ้ง) หนอนแมลงวันลาย (ใช้เป็นอาหารสัตว์) หนอนนก (ส่วนมากใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงแต่ทาง EU ขึ้นทะเบียนเป็น novel food* ของมนุษย์แล้ว)
ซึ่งการพัฒนาแมลงให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจนั้น ต้องมีการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดห่วงโซ่ของอุปสงค์และอุปทานที่เป็นระบบ โดยเริ่มจากการให้ความรู้และพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงให้ฟาร์มได้รับการรับรองคุณภาพ จากนั้นพัฒนาผู้ประกอบการในการพัฒนาและแปรรูผลิตภัณฑ์ และเชื่อมโยงตลาดการค้าแมลงทั้งในและต่างประเทศกับผู้ผลิต ผู้แปรรูป นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมและจัดทำกฎหมายหรือระเบียบรวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการขอส่งออกผลิตภัณฑ์แมลงอย่างละเอียดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อีกด้วย
สำหรับประโยชน์ของการบริโภคแมลงนั้น นอกจากเป็นแหล่งโปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ แล้ว การบริโภคแมลงยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากแมลงมีมากมายและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อพลเมืองบนโลกเพิ่มมากขึ้น สามารถรณรงค์ให้เกิดการบริโภคแมลงเป็นอาหารชนิดใหม่เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารได้ นอกจากนี้การบริโภคแมลงยังเป็นการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพราะการเพาะเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์อื่น ลดการสร้างแก๊สเรือนกระจก ซึ่งส่งผลดีต่อส่งแวดล้อมในระยะยาว
ภาพเปรียบเทียบคุณสมบัติของแมลง (insect) และสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ หมู(pork) ไก่(chicken) และวัว(cattle) ในด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม จะสังเกตได้ว่าการเลี้ยงแมลงจะใช้น้ำ อาหาร และพื้นที่ น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่ปริมาณที่จะนำไปกินนั้นมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (80% สำหรับแมลง และเพียง 57.5% 57.5% และ 45% สำหรับหมู ไก่และวัวตามลำดับ)
เมื่อย้อนกลับมาดูถึงคุณค่าทางอาหารของแมลงที่กินได้เกือบทั้งตัวนั้น มีอะไรกันบ้าง จากตารางจะพบว่าจิ้งหรีดให้โปรตีนสูงที่สุดต่อหน่วยบริโภค 100 กรัม คือ 31.0 กรัม และให้ไขมันน้อยมากเพียง 8.1 กรัม นอกจากนี้ยังพบไขมันอิ่มตัว 2.6 กรัม กรดไขมันโอเมก้า3 1.8 กรัม และมีใยอาหารถึง 7.2 กรัม นอกจากนี้หนอนนกก็ให้โปรตีนได้ถึง 16.2 กรัม ไขมัน 14.8 กรัม ไขมันอิ่มตัว 4.9 กรัม กรดไขมันโอเมก้า3 3.3 กรัม และใยอาหาร 2.5 กรัม ซึ่งจากผลที่แสดงให้เห็นนี้พบว่าทั้งจิ้งหรีดและหนอนนก มีปริมาณไขมันและไขมันอิ่มตัวต่ำ แต่ให้โปรตีนที่สูง เป็นความหวังทางอาหารของมนุษยชาติเลยทีเดียว นอกจากนี้แมลงบางชนิดโดยเฉพาะแมลงปีกแข็งจะมีสารไคตินที่เปลือก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลและช่วยดักจับไขมันในระบบย่อยอาหาร ซึ่งสัตว์อื่น ๆ เช่น วัวหรือไก่ จะไม่มีสารนี้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณและการผลิตแมลงกินได้นั้นมีหลายประการ ได้แก่ สายพันธุ์ ต้องเลือกชนิดและสายพันธุ์ที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค สามารถต้านทางโรคและมีอัตราการรอดสูง เพศของแมลงก็มีความสำคัญเนื่องจากในหลายสายพันธุ์ ตัวผู้และตัวเมียมีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกัน สำหรับฤดูกาลก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก เนื่องจากในแต่ละฤดูจะมีความชื้นและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ส่งผลการเจริญของแมลงแต่ละชนิด สามารถตรวจสอบฤดูกับชนิดของแมลงได้จากบทความ “แมลงกับแหล่งโปรตีนทางเลือกของอาหาร” บนเว็บไซต์ SciMath ส่วนอาหารเลี้ยงแมลงก็ส่งผลถึงผลผลิตที่ได้เช่นกัน การเลี้ยงแมลงด้วยอาหารบางชนิดอาจจะส่งผลถึงสารอาหารในตัวแมลง และถิ่นที่อยู่ของแมลง ซึ่งแมลงแต่ละชนิดจะมีความชอบในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน รวมถึงปริมาณความชื้นในโรงเรือน ปริมาณน้ำ จะส่งผลถึงการผลิตโดยตรง
ทั้งนี้ แม้ว่าแมลงจะเป็นแหล่งอาหารในอนาคต แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกินแมลงได้ มีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรกินแมลง หรือควรรับประทานแต่น้อย ได้แก่ (1) ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืด ซึ่งมีโอกาสในการแพ้ส่วนประกอบของแมลง ที่อาจรุนแรงถึงชีวิต (2) ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูก และหญิงมีควรรภ์ เนื่องจากในแมลงปีกแข็งที่มีสารไคตินนั้น อาจจะส่งผลถึงการดูดซึมแคลเซียม หรือเกิดความผิดปกติของการเจริญของทารกในครรภ์ และ (3) สำหรับแมลงที่ต้องผ่านการทอด ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงต้องระมัดระวังในการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วนและภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด
หมายเหตุ: *Novel food ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 พ.ศ. 2559 หมายความว่า (1) วัตถุที่ใช้เป็นอาการหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี (2) วัตถุที่ใช้เป็นอาการหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น ๆ ที่ทําให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสําคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances) และ (3) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุ (1) หรือ (2) เป็นส่วนประกอบ
เอกสารอ้างอิง :
Bertone, MA. et al. 2016. Arthropods of the great indoors: characterizing diversity inside urban and suburban homes. PeerJ 4:e1582 https://doi.org/10.7717/peerj.1582 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
Facts and figures. Royal Entomological Society. https://www.royensoc.co.uk/understanding-insects/facts-and-figures/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
Fried silkworm vendor in Satun says sales doubled after rating as second-worst deep-fried dish. The Nation. 19th February 2024. https://www.nationthailand.com/thailand/general/40035689 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
71 Worst Rated DEEP-FRIED DISHES in the World, Tasteatlas https://www.tasteatlas.com/worst-rated-deep-fried-dishes-in-the-world เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
กฎหมาย/ระเบียบ และขั้นตอนการส่งออกโดยสรุป: แมลง. กันยายน 2560. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ https://onestopservice.ditp.go.th/file/9.28.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด. พฤศจิกายน 2560. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. https://www.acfs.go.th/standard/download/GUIDANCE_GAP_CRICKET_FARM.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 พ.ศ. 2559 เรื่องอาหารใหม่ (Novel Food) https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/159/15.PDF เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 มีนาคม 2567
แมลง อาหารอนาคต โอกาสส่งออกไทยสู่ตลาดโลก. กรุงเทพธุรกิจ 4 มิถุนายน 2565 https://www.bangkokbiznews.com/business/1007884 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการใช้แมลงเป็นอาหารทางเลือกใหม่. ตุลาคม 2559. คอลัมน์เก็บตกจากต่างแดน. EXIM Thailand E-news. https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/7411/enews_october2016_tip.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร. โครงการพัฒนาศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหารไทย. 2564. การศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย. รายงานวิจัย. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
โอกาสผลิตภัณฑ์แมลงของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา. กุมภาพันธ์ 2561. สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก https://www.ditp.go.th/contents_attach/220378/220378.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม 2567
อ้างอิงภาพ (เข้าถึงภาพวันที่ 22 มีนาคม 2567)
ภาพโปรตีนบาร์จากจิ้งหรีด https://www.prachachat.net/economy/news-972431
ภาพแยมจาก mealworm https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/8112.html
ภาพขนมปังจากจิ้งหรีด https://www.marketingoops.com/news/brand-move/cricket-protein-bread/
ภาพจิ้งหรีด จากงานนำเสนอ https://www.opsmoac.go.th/loei-dwl-files-432791791230
ภาพเปรียบเทียบแมลงและสัตว์อื่น ๆ https://www.uoc.edu/en/news/2023/009-insects-consumption-nutrition