
โซดาไฟ (Caustic Soda) หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium Hydroxide) เป็นสารเคมีที่มีสูตรทางเคมี คือ NaOH มีทั้งชนิดสารละลายและชนิดแข็ง (ก้อน เม็ด เกล็ด ผง) มีสมบัติเป็นเบสแก่ ไม่มีกลิ่น มีฤทธิ์กัดกร่อนมาก เมื่อสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้เกิดการไหม้อย่างรุนแรง โซดาไฟที่อุณหภูมิสูงจะเกิดไอชื้นที่มีฤทธิ์เป็นเบส ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และเมื่อนำไปละลายน้ำอาจทำให้เกิดความร้อนขึ้นได้
หลายคนอาจคุ้นเคยว่าโซดาไฟถูกนำมาใช้ในการทำความสะอาดท่อระบายน้ำอุดตัน แต่รู้หรือไม่ว่า…มีการนำโซดาไฟไปใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมสบู่และสารซักล้าง เป็นต้น
อันตรายจากโซดาไฟ
โซดาไฟมีฤทธิ์เป็นเบสแก่ สามารถกัดเนื้อเยื่อได้ และหากหายใจเอาละอองเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรง และหากรับประทานเข้าไปจะเกิดการไหม้ในปาก คอ และกระเพาะอาหาร ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ข้อมูลเพิ่มเติมทางพิษวิทยา
๐ การหายใจเข้าไป >> ระคายเคืองจมูก คอ ปอด ไอ แสบคอ หายใจถี่ หายใจลลำบาก
๐ การสัมผัสทางผิวหนัง >> กัดเนื้อเยื่อผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นแดง ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรง
๐ การสัมผัสทางดวงตา >> กัดเนื้อเยื่อดวงตา ตาแดง ตามัว ดวงตาไหม้อย่างรุนแรง อาจตาบอดได้
๐ การกลืนกิน >> แสบคอและหน้าอก ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ช็อก อาจหมดสติ หรือเสียชีวิต
การทำปฏิกิริยาของโซดาไฟ
๐ โซดาไฟทำปฏิกิริยารุนแรงกับกรดทุกชนิด และเมื่อละลายน้ำจะทำให้เกิดความร้อน
๐ โซดาไฟทำปฏิกิริยากับโลหะ เช่น ทองแดง โลหะผสม (Alloy อัลลอยด์) ของทองเหลือง หรือสำริด ทำให้เกิดการออกซิไดซ์
๐ โซดาไฟทำปฏิกิริยากับโลหะ เช่น อลูมิเนียม สังกะสี ดีบุก ตะกั่ว ทำให้เกิดแก๊สไฮโดรเจนซึ่งไวไฟ
วิธีรับมือเมื่อร่างกายได้รับโซดาไฟ
๐ หากหายใจเข้าไป >> ให้ย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท หากหายใจไม่สะดวกให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ และรีบนำส่งแพทย์ทันที
๐ หากสัมผัสทางผิวหนัง >> ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที แล้วล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก
๐ หากสัมผัสทางดวงตา >> ล้างด้วยน้ำปริมาณมาก โดยลืมตาให้กว้าง ให้น้ำไหลผ่านอย่างน้อย 20 นาที
๐ หากกลืนกิน >> ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด
……………………….
ดูคลิป Project 14 เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี ตอน 1 >> https://www.youtube.com/watch?v=on1qlg7kl58
……………………….
ขอบคุณข้อมูล : กรมโรงงานอุตสาหกรรม (หลักการและมาตรการความปลอดภัยโซเดียมไฮดรอกไซด์) http://reg3.diw.go.th/safety/wp-content/uploads/2019/11/Sodium%20hydroxide.pdf