
หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนว่าโรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพ็อกซ์ (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในสวีเดนที่เชื่อมโยงกับการระบาดในแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อในฟิลิปปินส์และล่าสุดพบผู้ติดเชื้อที่ประเทศไทย ซึ่งกำลังรอการยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ Clade Ib ที่แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสใกล้ชิดหรือไม่
อย่างไรก็ดี Dr. Hans Kluge จาก WHO ได้กล่าวย้ำว่า แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการแจ้งเตือนทั่วโลก แต่ยังสามารถควบคุมเอ็มพ็อกซ์ได้ เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขรู้วิธีควบคุมการแพร่ระบาดและดำเนินการกระจายวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด
ทำความรู้จักกับเอ็มพ็อกซ์
เอ็มพ็อกซ์ หรือฝีดาษลิง เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสฝีดาษลิง (Mpox virus หรือ monkeypox virus) ซึ่งอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสฝีดาษ (smallpox) โดยไวรัสเอ็มพ็อกซ์มีสองสายพันธุ์หลัก คือ Clade I และ Clade II ซึ่งการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือรอยโรคของผู้ป่วย วัสดุที่ปนเปื้อน สำหรับกรณีของการแพร่เชื้อผ่านละอองน้ำจากการหายใจจะเกิดได้เมื่อใบหน้าอยู่ใกล้ชิดกัน นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจจะเกิดผ่านจากแม่สู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างคลอดและหลังคลอด
อาการของเอ็มพ็อกซ์
เอ็มพ็อกซ์มีระยะฟักตัวประมาณ 3-17 วัน ในช่วงนี้ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ อาการหลักของโรคคือผื่นผิวหนังบริเวณใบหน้า แขน ขา มือ เท้า หน้าอก หรือบริเวณอวัยวะเพศ ผื่นเริ่มจากผื่นราบต่อมาจะนูนขึ้น กลายเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จนเป็นแผ่นสะเก็ดที่แห้งและลอกเอง โดยมักจะมีอาการร่วม เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ คัดจมูก ไอ และต่อมน้ำเหลืองโต
การวินิจฉัยเอ็มพ็อกซ์
การวินิจฉัยเอ็มพ็อกซ์ทำได้ยาก เนื่องจากอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น อีสุกอีใส หัด เริม หรือซิฟิลิส ซึ่งการยืนยันการติดเชื้อสามารถทำได้โดยการตรวจดีเอ็นเอของไวรัสด้วยวิธี PCR จากตัวอย่างผื่นหรือสารคัดหลั่งจากรอยโรค หากไม่มีรอยโรคสามารถเก็บตัวอย่างจากปากและคอหอย หรือทวารหนัก
การรักษาเอ็มพ็อกซ์
การรักษาเน้นการประคับประคองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน ส่วนใหญ่โรคจะหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์ แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเอคซิม่า และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีความรุนแรงมากขึ้น
การปฏิบัติตัว
ผู้ป่วยควรแยกตัวอยู่ในห้องของตนเอง งดใช้ของร่วมกับผู้อื่น และดูแลผื่นให้สะอาดและแห้ง หากมีอาการปวดหรือบวมแดงควรรีบพบแพทย์ หากต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นควรสวมหน้ากากอนามัย ปิดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น
การป้องกันเอ็มพ็อกซ์
ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน โดยทั่วไปวัคซีนนี้จะให้กับกลุ่มเสี่ยง สำหรับวัคซีนในปัจจุบันที่ใช้ในการป้องกันเอ็มพ็อกซ์คือวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันฝีดาษ (smallpox) นั่นเอง ซึ่งพบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% นอกจากนี้การล้างมือบ่อยๆหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือก็จะช่วยในการป้องกันได้
เรียนรู้เพิ่มเติม :
- เรียนรู้เทคโนโลยีทางดีเอนเอ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางดีเอ็นเอ และข้อควรคำนึงถึงจากการนำเทคโนโลยีทางดีเอ็นเอไปใช้ https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-sci-basic/biological-science/sci-m4b1-016/
- เรียนรู้เรื่องการเพิ่มจำนวน DNA ด้วยเทคนิค PCR https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m4-bio-book2/bio-m4b2-019/
- เรียนรู้เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางดีเอ็นเอ ตอนที่ 1: การใช้เทคโนโลยีทางดีเอ็นเอในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การวินิจฉัยหรือการตรวจกรองโรค และการรักษา https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m4-bio-book2/bio-m4b2-021/
- เรียนรู้เรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างการ https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-biology/m5-bio-book4/bio-m5b4-018/
เรียบเรียงข้อมูลจาก :
- https://www.matichon.co.th/foreign/news_4736575
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/343319
- https://www.bbc.com/news/articles/cvg34y37jqgo
- https://www.nytimes.com/2024/08/19/world/asia/philippines-mpox-case.html
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/monkeypox
- https://www.cdc.gov/poxvirus/mpox/your-health/index.html