

เทศกาลกินเจจัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี นับเป็นเทศกาลใหญ่เทศกาลหนึ่งในประเทศไทยที่มีการจัดงานในหลายจังหวัด โดยมีกำหนดเวลาเทศกาลกินเจรวม 9 วัน กำหนดจากวันตามจันทรคติที่เริ่มต้นเมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ในความหมายทางพุทธศาสนานิกายมหายาน สำหรับคำว่า “เจ” มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “อุโบสถ” โดยการกินเจหมายถึงการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เช่นเดียวกับการที่ชาวพุทธในไทยถืออุโบสถศีลโดยไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวัน
อย่างไรก็ตาม การถืออุโบสถศีลของชาวพุทธมหายานนั้นรวมถึงการงดเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย จึงได้นำการไม่กินเนื้อสัตว์มาผนวกเข้ากับการกินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ที่นอกจากจะละเว้นเนื้อสัตว์แล้วยังต้องรักษาศีลธรรมอันดีงามด้วย สำหรับผู้ที่ถือศีลกินเจ รวมทั้งผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเจนั้น น่าจะเคยเห็นอาหารหลากหลายทั้งจานผัก และจานที่มีความคล้ายเนื้อสัตว์อย่างน่าประหลาดใจ บทความนี้จะมาค้นหาว่าอาหารที่มีลักษณะหรือเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์นั้นทำมาจากอะไรบ้าง …
เคยได้ยินชื่อหรือรับประทาน “หมี่กึง” กันบ้างหรือไม่ ? หมี่กึง หรือ seitan คือโปรตีนกลูเตนในข้าวสาลี ผลิตโดยนำแป้งสาลีผสมน้ำและนวดจนได้เป็นก้อนกลูเต็นที่มีเนื้อสัมผัสเหนียวคล้ายเนื้อสัตว์ เนื่องจากในแป้งสาลีมีโปรตีนสองชนิดคือ โปรตีนกลูเตนิน (glutenin) และไกลอะดิน (gliadin) ที่เมื่อละลายน้ำแล้วโปรตีนสองชนิดจะรวมกันเป็นกลูเต็นนั่นเอง ซึ่งหมี่กึงนับเป็นวัตถุดิบยอดนิยมได้รับความนิยมในอาหารที่ต้องการทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะในอาหารมังสวิรัติและเจ
หมี่กึงสามารถทำได้ง่ายในครัวที่บ้าน โดยใช้วัตถุดิบหลักเพียงแป้งสาลี และ น้ำ โดยใช้แป้งสาลีประมาณ 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำสะอาด 2 ถ้วย จนแป้งจับตัวเป็นก้อนเหนียว จากนั้นนวดแป้งที่ผสมให้เข้ากันดีเพื่อให้เกิดกลูเต็น ต่อมานำแป้งที่นวดไปล้างน้ำเพื่อแยกแป้งสาลีส่วนที่เป็นคาร์โบไฮเดรตออก เหลือเพียงส่วนที่เป็นกลูเตนเหนียวและนำมาปั้นเป็นก้อนหรือรูปแบบตามที่ต้องการ จากนั้นนำหมี่กึงไปต้มในน้ำเดือดเป็นเวลาประมาณ 30-60 นาที จนกระทั่งหมี่กึงฟูและเหนียว หลังจากต้มแล้วให้นำหมี่กึงขึ้นจากน้ำ พักให้เย็นและสามารถนำไปปรุงอาหารตามต้องการ
สำหรับน้ำแป้งที่แยกออกมาจากกลูเต็นนั้นสามารถนำไปประกอบอาหารอื่น เช่น ฮะเก๋า ได้อีกด้วย และเนื่องจากหมี่กึงมีสารอาหารหลักคือโปรตีน (26.79 กรัม/หมี่กึง100 กรัม) เนื่องจากผลิตจากกลูเตน แต่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมอาหาร กินมังสวิรัติ หรือทานโปรตีนจากพืช แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้กลูเต็นควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหมี่กึงเพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์
วัตถุดิบยอดนิยมอีกชนิดสำหรับช่วงเทศกาลกินเจและสำหรับผู้กินอาหารมังสวิรัติคือ โปรตีนเกษตร ซึ่งมีที่มาจากการคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการของประชากรในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน์ได้ค้นคว้าวิจัยร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแนวคิดเบื้องต้นคือการผลิตโปรตีนจากผลิตผลทางการเกษตรที่มีอยู่มากมายและราคาไม่แพง เช่นถั่วเหลือง หรือโปรตีนจากถั่วเขียวที่เป็นผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์วุ้นเส้น
แต่ในปัจจุบันได้ปรับวัตถุดิบเป็นปรับวัตถุดิบให้เหมาะสมคือแป้งถั่วเหลืองสกัดไขมัน (defatted soy flour) เพื่อให้เหมาะกับวิธีการผลิตที่เปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้นด้วยวิธี Thermoplastic Extrusion process โดยใช้เครื่องคุกเกอร์เอ็กซทรูเดอร์ (Cooker Extruder) นั่นเอง สำหรับปริมาณโปรตีนในโปรตีนเกษตรนั้น คือ 49.76 กรัม/โปรตีนเกษตร 100 กรัม และมีสารอาหารอื่นๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร เป็นต้น ในปัจจุบันสถาบันฯ ผลิตโปรตีนเกษตรหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการประกอบอาหารที่หลากหลายมากขึ้น
แม้ว่าหมี่กึงและโปรตีนเกษตรจะให้โปรตีนสูง แต่การบริโภคในแต่ละมื้อ ควรจะจัดสำรับให้อาหารครบทุกหมู่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงหากไม่แน่ใจได้รับสารอาหารเพียงพอในแต่ละวันหรือไม่ ขอชวนมาทบทวนกันสักนิดว่าในหนึ่งมื้อหนึ่งวันเราควรรับประทานสารอาหารอะไรบ้างกับเกม EatD ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสารอาหารและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม สามารถดาวน์โหลดเกมได้ที่ลิงก์ https://www.scimath.org/mobile-application/item/10914-eatd


อ้างอิง :
- The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology. (2013). EatD [Mobile Application]. https://apps.apple.com/th/app/eatd/id1482597746 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 กันยายน 2567
- John Hopkins Medicine. What Is Gluten and What Does It Do?. (n.d.). https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/what-is-gluten-and-what-does-it-do เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 กันยายน 2567
- Margaret Hill. (February 2012). Attach of the Gluten. American Chemical Society. https://www.acs.org/education/chemmatters/past-issues/archive-2011-2012/gluten.html/1000 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 กันยายน 2567
- Seitan. In Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Seitan (n.d.) เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว. (7 ตุลาคม 2559). วันนี้เห็นลูกเพจอยากทราบเรื่อง #หมี่กึง หรือโปรตีน #กลูเตน จากแป้งสาลีกัน … [Image]. Facebook https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/1259324514105980/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- อ.พญ.ณิชา สมหล่อ. (21 ตุลาคม 2566). กินเจอย่างไรให้ได้บุญ แถมคืนทุนให้สุขภาพ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/how-to-eat-vegetarian-to-get-merit-plus-payback-for-health/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- ทีมงาน Gourmet&Cuisine. (24 ตุลาคม 2560). อาหารเจกับมังสวิรัติต่างกันอย่างไรนะ? Gourmet&Cuisine. https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/92 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- เทศกาลกินเจ. (23 สิงหาคม 2567). ใน Wikipedia. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 10 กันยายน 2567
- ลูกคนจีน. (20 สิงหาคม 2564). แป้งหมี่ แป้งตั้งหมิ่น หมี่กึง??? 3 ชื่อนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันใช่มั้ยฮะ? … [Image]. Facebook https://www.facebook.com/100063638977803/posts/896526234608055/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- อ.พญ. ศุภมาส เชิญอักษร. (8 มิถุนายน 2560). โรคเซลิแอค กับอาการแพ้กลูเตนในเบเกอรี่. Rama Channel โรงพยาบาลรามาธิบดี. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%84-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B8%81/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 11 กันยายน 2567
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย. (1 กันยายน 2561). Thai Nutrition Search หมี่กึงรวม, อาหารเจ. https://thaifcd.anamai.moph.go.th/nss/view.php?fID=11230 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (n.d.) โปรตีนเกษตร. https://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/Ku-research60/ku60/protein.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 2567
- สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (n.d.) โปรตีนเกษตรหรือเนื้อเทียม. http://www.dev.ifrpd.ku.ac.th/th/products/ifrpd-protein.php เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 กันยายน 2567
- ดร.สุนัดดา โยมญาติ. (7 เมษายน 2560). แป้งอะไรใช้ทำขนม. สาขาชีววิทยา สสวท. http://biology.ipst.ac.th/?p=3266 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 11 กันยายน 2567
ที่มาของภาพประกอบ :
- ภาพหมี่กึง https://pantip.com/topic/40263740
- ภาพอาหารจากหมี่กึง https://cookpad.com/th/recipes/10775279-%E0%B8%9C%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88?ref=search&search_term=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B6%E0%B8%87
- ภาพโปรตีนเกษตร http://www.dev.ifrpd.ku.ac.th/th/products/ifrpd-protein.php
- ภาพโปรตีนเกษตรผัดพริกขิง https://cookpad.com/th/recipes/6271967-%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%88
- ภาพโปรตีนเกษตรแดดเดียว https://pantip.com/topic/38156858
- ภาพโทรศัพท์เคลื่อนที่ https://loosedrawing.com/illust/1167/
- ภาพกลูเต็น https://www.acs.org/education/chemmatters/past-issues/archive-2011-2012/gluten.html/1000
- ภาพคอมพิวเตอร์ https://loosedrawing.com/illust/1400/
- ภาพผู้หญิง https://loosedrawing.com/illust/1552/