
การบอกปริมาณสิ่งของในชีวิตประจำวัน อาจบอกเป็นหน่วยมวล เช่น กรัม กิโลกรัม หรือหน่วยปริมาตร เช่น ลูกบาศก์เซนติเมตร ลิตร นอกจากนี้ถ้าสิ่งของที่เหมือน ๆ กันและสามารถนับจำนวนชิ้นได้อาจบอกเป็นหน่วยโหล เช่น ดินสอ 1 โหล เท่ากับ 12 แท่ง
การบอกปริมาณสารเคมีก็เช่นเดียวกัน อาจบอกเป็นหน่วยมวล หน่วยปริมาตร หรือหน่วยแสดงจำนวนอนุภาคของสาร แต่เนื่องจากสารต่าง ๆ ประกอบด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก เช่น น้ำตาลทราย 1 เกล็ด (ประมาณ 0.0001 กรัม) มี C12H22O11 1.0 x 1017 โมเลกุล น้ำ 1 กรัม มี H2O 3.3 x 1022 โมเลกุล จะเห็นได้ว่าการบอกปริมาณสารด้วยจำนวนอนุภาคต้องใช้เลขยกกำลังจำนวนมาก นักเคมีจึงกำหนดหน่วยแสดงจำนวนอนุภาคของสารเป็นหน่วยใหญ่ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณสารที่วัดได้ในชีวิตประจำวัน โดยให้ชื่อว่า “โมล” (mole)
หน่วยงาน International Union of Pure and Applied Chemistry หรือ IUPAC ได้กำหนดว่า สาร 1 โมล มีจำนวนอนุภาคเท่ากับ 6.02214076 x 1023 อนุภาค และเรียกจำนวนอนุภาคนี้ว่า “เลขอาโวกาโดร” (Avogadro’s number) หรือ “ค่าคงตัวอาโวกาโดร” (Avogadro’s constant)
เพื่อความสะดวกในการคำนวณจะนิยมใช้ตัวเลข 6.02 x 1023 อนุภาค แทนค่าคงตัวอาโวกาโดร โดยอนุภาคของสารอาจเป็นอะตอม โมเลกุล ไอออน หรืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของสาร และเนื่องจากหน่วยโมล เป็นการบอกจำนวนอนุภาคของสาร ดังนั้น สาร 1 โมล จึงอาจมีมวลและปริมาตรไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของสารนั้น ๆ
รู้หรือไม่? วันโมล (Mole Day) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 23 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 06:02 น. ถึง 18:02 น. (6:02 a.m. ถึง 6:02 p.m.) เพื่อรำลึกถึง “เลขอาโวกาโดร” (Avogadro’s Number) จำนวนมหัศจรรย์ในทางเคมี ซึ่งมีค่าประมาณ 6.02 × 10²³
วันโมลได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความสนใจในวิชาเคมี และมีการเฉลิมฉลองด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาเคมีในโรงเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
อ้างอิง :
1. ACS: https://www.acs.org/education/students/highschool/chemistryclubs/mole-day.html
2. หนังสือเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคมี ม.4 เล่ม 2 บทที่ 4 โมลและสูตรเคมี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)