
ใครที่เคยเรียนวิชาเคมีคงจะเคยได้ยินคำว่า “แรงแวนเดอร์วาลส์” ซึ่งเป็นแรงดึงดูดอย่างอ่อนระหว่างอะตอมหรือโมเลกุล ชื่อของแรงแวนเดอร์วาลส์ถูกเรียกเพื่อเป็นเกียรติแก่ โยฮันเนส แวน เดอร์ วาลส์ (Johannes van der Waals) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักอุณหพลศาสตร์ชาวดัตช์ ผู้บุกเบิกการศึกษาสมบัติของสสารในสถานะแก๊สและของเหลว
ทำความรู้จัก “แรงแวนเดอร์วาลส์”
ที่อุณหภูมิห้อง สารโคเวเลนต์แต่ละชนิดอาจอยู่ในสถานะที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล (intermolecular force) หรือ แรงแวนเดอร์วาลส์ (van der Waals force)
- สถานะของแข็ง: โมเลกุลอยู่ชิดกันจนไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ และมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลมาก
- สถานะของเหลว: โมเลกุลสามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ยังคงอยู่ชิดกันและมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อยกว่าในของแข็ง
- สถานะแก๊ส: โมเลกุลอยู่ห่างกัน สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระและมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อยมากจนถือว่าไม่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล
ดังนั้น การเปลี่ยนสถานะของสารจากของแข็งเป็นของเหลว หรือของเหลวเป็นแก๊ส จึงเกี่ยวข้องกับการทำลายแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลโดยไม่มีการทำลายพันธะโคเวเลนต์
แรงแวนเดอร์วาลส์เกี่ยวข้องกับขนาดโมเลกุลและสภาพขั้วของโมเลกุล ซึ่งแรงแวนเดอร์วาลส์มีหลายชนิดและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ในที่นี้จะกล่าวถึง 3 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่
- 1. แรงแผ่กระจายลอนดอน (London dispersion force) เป็นแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลไม่มีขั้วหรืออะตอมแก๊สมีสกุล ซึ่งเป็นแรงอย่างอ่อน ๆ ที่เกิดจากการกระจายของอิเล็กตรอนในอะตอมขณะใดขณะหนึ่งซึ่งอาจไม่เท่ากันจึงทำให้เกิดสภาพขั้วชั่วขณะ แล้วเหนี่ยวนำให้โมเลกุลที่อยู่ใกล้กันเกิดขั้วตรงข้ามและมีแรงดึงดูดชั่วขณะ โดยแรงแผ่กระจายลอนดอนเพิ่มขึ้นตามขนาดของโมเลกุล เนื่องจากโมเลกุลขนาดใหญ่สามารถเกิดสภาพขั้วชั่วขณะได้มากกว่า
- 2. แรงระหว่างขั้ว (dipole – dipole force) สำหรับโมเลกุลมีขั้ว เช่น HBr H2S PH3 นอกจากมีแรงแผ่กระจายลอนดอนแล้ว ยังมีแรงดึงดูดที่เกิดจากสภาพขั้วของโมเลกุล โดยโมเลกุลที่อยู่ใกล้กันจะหันส่วนของโมเลกุลที่มีขั้วตรงข้ามกันเข้าหากันเกิดเป็นแรงดึงดูดทางไฟฟ้าจากสภาพขั้วนี้ โดยทั่วไปแรงระหว่างขั้วเพิ่มขึ้นตามสภาพขั้วของโมเลกุลที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
- 3. พันธะไฮโดรเจน (hydrogen bond) เมื่อพิจารณาจุดเดือดของสารประกอบของไฮโดรเจนกับธาตุหมู่ VIIA เช่น HF HCI HBr HI จะพบว่า HF มีจุดเดือดสูงกว่าสารประกอบอื่น ทั้งที่ HF มีขนาดโมเลกุลเล็กที่สุด ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวโน้มของขนาดโมเลกุลดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงว่า HF มีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลมากกว่าสารประกอบของไฮโดรเจนกับธาตุหมู่ VIIA อื่น ๆ
ทั้งนี้เพราะผลต่างของอิเล็กโทรเนกาติวิตีระหว่างไฮโดรเจนกับฟลูออรีนมีค่ามาก ทำให้กลุ่มหมอกอิเล็กตรอนอยู่ทางด้านอะตอมฟลูออรีนที่มีขนาดเล็กอย่างหนาแน่น อะตอมฟลูออรีนและไฮโดรเจนมีสภาพขั้วสูงกว่าในกรณีของ HCI HBr และ HI มาก ทำให้มีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของ HF มากด้วย
แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลที่เกิดจากอะตอมไฮโดรเจนของโมเลกุลหนึ่งกับอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวบนอะตอมของธาตุที่มีขนาดเล็กและมีอิเล็กโทรเนกาติวิตีสูงของอีกโมเลกุลหนึ่ง เรียกว่า “พันธะไฮโดรเจน” โดยพันธะไฮโดรเจนมีความแข็งแรงมากกว่าแรงระหว่างขั้วทั่ว ๆ ไปประมาณ 5 – 10 เท่า
บทความ SciMath เรื่อง แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล : https://www.scimath.org/lesson-chemistry/item/7164-2017-06-04-15-16-29
ที่มา: หนังสือเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคมี ม.4 เล่ม 1 บทที่ 3 เรื่อง พันธะเคมี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)