เรื่องเล่าจากภาพวาด:  เมื่อชีสคามองแบร์คือแรงบันดาลใจ

เรื่องเล่าจากภาพวาด:  เมื่อชีสคามองแบร์คือแรงบันดาลใจ

ภาพซัลบาโด ดาลี โดย Wikipedia                      

ภาพ The Persistence of Memory ถ่ายจากภาพจริงที่จัดแสดง ณ Museum of Modern Art (MoMA) มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

ผลงานของซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) ศิลปินระดับโลกที่สร้างผลงานในรูปแบบเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) ซึ่งเป็นผลงานทางศิลปะที่เน้นความคิดและความรู้สึกที่เหนือจริงและใช้ภาพเชิงเปรียบเทียบหรือสัญลักษณ์ในการนำเสนอความเป็นไปได้ของโลกที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ในชีวิตจริง หนึ่งในภาพวาดของดาลีที่มีชื่อเสียงระดับโลกมีชื่อว่า The Persistence of Memory” มักถูกตีความหลากหลาย จากนาฬิกาในภาพที่ดูเหมือนจะหลอมละลาย สื่อถึงความไม่แน่นอนและความเป็นอิสระของเวลา ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงได้กับความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่จีรังของชีวิต

ดาลีเคยกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพนี้ว่า เกิดจากประสบการณ์ที่เห็นชีสคามองแบร์ (Camembert cheese) นุ่มเยิ้มประหนึ่งละลาย ซึ่งเขาได้เชื่อมโยงโดยวาดรูปนาฬิกาที่อ่อนนุ่มประหนึ่งจะหลอมละลายในภาพนี้

คามองแบร์นั้นเป็นชีสที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส ชีสนี้จะนิ่มเยิ้มเมื่อได้รับความร้อน แต่เมื่อเย็นลงจะกลับมามีลักษณะแข็งเช่นเดิม ซึ่งสอดคล้องกับ “นาฬิกาละลาย” ของดาลีในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการแสดงถึงความไม่แน่นอนของเวลา นอกจากนี้ในภาพนี้ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เนินเขาในพื้นหลังที่สะท้อนถึงบ้านเกิดของดาลีในแคว้นกาตาลุญญา ส่วนรูปทรงลึกลับที่นอนอยู่ตรงกลางภาพ หลายคนเห็นว่าเหมือนภาพเซลฟ์พอร์เทรตของดาลีเอง สำหรับมดเปรียบเป็นภาพหลอนของความตายและความเสื่อมโทรม ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพนี้เต็มไปด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ผสมผสานความฝัน จินตนาการ และความจริงเข้าด้วยกัน  การวาดภาพนี้ดาลีใช้สีสันที่นุ่มนวลและสัดส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลเพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมือนกับอยู่ในโลกแห่งความฝัน

ภาพ Penicillium camemberti โดย © INRA / M. Rousseau

ภาพชีสคามองแบร์

โดย AlbanyColley

ชีสคามองแบร์ที่เป็นแรงบันดาลใจของดาลีนั้น เป็นหนึ่งในชีสที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในฝรั่งเศส ซึ่งมีต้นกำเนิดในหมู่บ้านคามองแบร์ เขตนอร์มังดี (Normandy) ชีสชนิดนี้มีเปลือกบางสีขาวนวลซึ่งเกิดจากรา Penicillium camemberti และภายในมีเนื้อชีสที่นุ่มและครีมมี่ เมื่อบ่มจนสุกเต็มที่เนื้อชีสจะเริ่มยืดหยุ่นและเกือบเหลว ซึ่งทำให้คามองแบร์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก

สำหรับกระบวนการผลิตชีสคามองแบร์นั้นเริ่มต้นจากการใช้วัตถุดิบหลักคือ น้ำนมวัวสด ซึ่งต้องผ่านการพาสเจอไรซ์เพื่อทำลายแบคทีเรียที่เป็นอันตราย หลังจากนั้นจะเติมเรนเนต (Rennet) และจุลินทรีย์ที่ช่วยในกระบวนการหมัก ซึ่งจะทำให้เกิดการตกตะกอนของโปรตีนในน้ำนมเกิดเป็นก้อนนม (curd) และหางนม (whey)

จากนั้นนำส่วนของก้อนนมไปใส่แม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปเป็นก้อนกลมขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10.4 เซนติเมตร หรือ 4 นิ้ว หนา 3.2 เซนติเมตร หรือ 1.26 นิ้ว) อันเป็นลักษณะเฉพาะของชีสชนิดนี้ และเคลือบผิวของก้อนชีสด้วยรา P. camemberti แล้วจึงนำไปบ่มในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิเป็นเวลาประมาณ 3-5 สัปดาห์ โดยระหว่างนี้รา  P. camemberti จะเจริญเติบโตและสร้างเปลือกสีขาวขึ้นมารอบชีส โดยส่วนเปลือกนี้ที่ประกอบไปด้วยรา P. camemberti  สามารถรับประทานได้ และเมื่อชีสคามองแบร์สุกเต็มที่ จะมีลักษณะเนื้อชีสที่นุ่มและครีมมี่ มีรสชาติที่เข้มข้นและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อันเป็นผลมาจากสารประกอบต่าง ๆ เช่น diacetyl (ให้รสชาติเหมือนเนย), methional (ย่อยสลายจาก methionine), isovaleric acid เป็นต้น  

ในด้านคุณค่าทางโภชนาการนั้น ชีสคามองแบร์ 100 กรัม มีโปรตีน 19.8 กรัม ไขมันทั้งหมด 24.3 กรัม แคลเซียม 388 มิลลิกรัม น้ำ 51.8 กรัม วิตามินและสารอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งให้พลังงาน 300 กิโลแคลอรี ชีสคามองแบร์ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานชีสกับขนมปังหรือบิสกิตหลากชนิด อาจนำไปอบเพื่อให้เนื้อชีสนิ่มมากขึ้น มีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นมากขึ้น ใส่ในสลัดชนิดต่าง ๆ หรือนำไปประกอบในอาหารจำพวกเบเกอรีหรือเพสตรีก็ชวนอร่อย

อ้างอิง:

อ้างอิงภาพ :


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content