“ความเครียด” ที่พอเหมาะ คือแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จ

ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่เลือกเพศ วัย หรืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมในยุคปัจจุบันที่มีความรีบเร่ง หรือในสภาวะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรับรู้เรื่องราวข่าวสารในทางลบที่มากเกินไปจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ สภาพเศรษฐกิจที่ชักหน้าไม่ถึงหลังก็ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียดได้ หรือแม้แต่สังคมแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนใด ๆ ที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ หากแต่ภายในห้องเรียน ทั้งคุณครูและนักเรียนอาจกำลังมีความเครียดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ครูอาจเครียดจากการเตรียมการสอน การประเมินผลงานของตนเอง การจัดการชั้นเรียน นักเรียนเองก็อาจกังวลเรื่องการบ้านที่ต้องทำ การสอบที่กำลังจะมาถึง ซึ่งความเครียดและความวิตกกังวลเป็นสาเหตุหนึ่งของการลาออกจากโรงเรียน

ความเครียด คือ สภาวะที่เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับสิ่งมีชีวิตทุก ๆ ครั้งที่เกิดความคิด หรือมีอารมณ์ใด ๆ  สำหรับความหมายที่เราเข้าใจกันทั่ว ๆ ไป ความเครียดคือสภาวะที่ร่างกายตอบสนองทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่สมองของเรามองว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์หรือสภาวะที่ยากลำบาก โดยเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์

ความเครียด แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

  1. ความเครียดเฉียบพลัน (acute stress) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น การตกใจเมื่อได้ยินเสียงดัง ความเครียดชนิดนี้ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เองเมื่อเวลาผ่านไป
  2. ความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) เป็นความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัว ความเครียดชนิดนี้ ร่างกายกำจัดออกได้ยาก หากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตต่อไป

ความเครียดเป็นปฏิริยาตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่มุมมองในเรื่องความเครียดของแต่ละบุคคล ส่งผลที่แตกต่างกัน ระดับความเครียดที่พอเหมาะจะเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์มีสมรรถภาพ (performance) ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ รวมไปถึงการทำความเข้าใจ “ความเครียด” ด้วยมุมมองใหม่ ๆ เช่น

  • ความเครียดช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจ
  • ความเครียดช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและทำให้เราเติบโต
  • ความเครียดช่วยพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง
  • ความเครียดคือส่วนสำคัญของชีวิตที่มีความหมาย

ในทางกลับกัน ระดับความเครียดที่มากจนเกินไป จะส่งผลกระทบในทางลบต่อบุคคลนั้น ๆ เป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียดกับสมรรถภาพในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ แสดงได้ดังกราฟ

อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนมักไม่ได้ตระหนักถึงหรือลืมไปว่าในขณะนั้นตนเองรู้สึกอย่างไร หรือบางครั้งไม่รู้ตัวด้วยว่าตนเองมีระดับความเครียดเกิดขึ้นมากเกินไปแล้ว แต่ร่างกายได้มีการตอบสนองต่อความเครียดให้เห็นออกมาหลายอย่าง ซึ่งการตอบสนองของร่างกายอาจสามารถนำมาเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นที่ใช้ในการสังเกตความเครียดของตนเองหรือบุคคลรอบข้างได้ เช่น  

  • อารมณ์แปรปรวน
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • นอนไม่หลับ
  • เมินเฉย ละเลยหน้าที่ของตนเอง
  • ป่วยง่ายเนื่องจากความเครียดที่มากจนเกินไป ทำให้ภูมิคุ้มกันตก
  • กินน้อยหรือมากเกินไป
  • อาการทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง เหงื่ออกมือ ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน ปวดศีรษะตื้อ ๆ
  • น้ำหนักขึ้นลงอย่างรวดเร็ว

หากไม่แน่ใจ ประเมินตนเองได้จากแบบทดสอบจากแหล่งต่าง ๆ เช่น กรมสุขภาพจิต

ความเครียดที่มากจนเกินไปจะส่งผลกระทบต่อ 1) สุขภาพ เช่น มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ หลับมากกว่าปกติ 2) จิตใจและอารมณ์ เช่น หงุดหงิด ว้าวุ่นใจ มีสมาธิน้อยลง หลงลืมง่าย และ 3) ความสัมพันธ์ เช่น เซ็ง ไม่อยากพบปะผู้คน เก็บตัว อยากอยู่คนเดียว ดังนั้นเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เราต้องหาวิธีการจัดการกับความเครียดนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่าตนเองมีความเครียด หาสาเหตุของความเครียด และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้น สำหรับวิธีการทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในการจัดการกับความเครียดได้ เช่น

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ/ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ/พักผ่อนให้เพียงพอ/กินอาหารดีมีประโยชน์
  • ฝึกสติด้วยการฝึกสมาธิ หายใจลึก ๆ
  • หาที่ปรึกษา เช่น การพูดคุยกับเพื่อน การพบจิตแพทย์
  • กำจัด/หลีกเลี่ยงจากปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด
  • ฟังเพลง/ฝึกจินตนาการสร้างภาพ
  • เปลี่ยนบรรยากาศ/ทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง

เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความเครียดได้ หากแต่การเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความเครียด โดยใช้ความเครียดให้เป็นประโยชน์ และบริหารจัดการกับความเครียดเหล่านั้นไม่ให้มีมากจนเกินไป คือ วิธีการรับมือที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลและศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมได้จาก :


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content