
วันวาเลนไทน์เป็นโอกาสพิเศษที่หลายคนนิยมมอบดอกกุหลาบให้แก่คนรัก โดยแต่ละสีของกุหลาบมีความหมายแตกต่างกัน เช่น กุหลาบแดงสื่อถึงความรักอันลึกซึ้ง กุหลาบขาวแทนความรักที่บริสุทธิ์ และกุหลาบเหลืองแสดงถึงมิตรภาพ แต่นอกเหนือจากความหมายเชิงสัญลักษณ์แล้ว สีของดอกกุหลาบยังสามารถอธิบายผ่านหลักการทางเคมีและชีววิทยาได้อีกด้วย
เคมีของสีในดอกกุหลาบ
สีของดอกกุหลาบเกิดจากสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นรงควัตถุที่มีโครงสร้างเป็นฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือ สามารถเปลี่ยนสีได้ตามค่าความเป็นกรด-เบส (pH) ภายในเซลล์ ตัวอย่างเช่น:
- กุหลาบแดง: มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงและอยู่ในสภาวะที่เป็นกรด จึงให้สีแดงเข้ม
- กุหลาบม่วงหรือฟ้า: เกิดจากสภาวะที่มีค่าพีเอชสูงขึ้นเล็กน้อย ทำให้รงควัตถุเปลี่ยนเป็นเฉดสีม่วงหรือฟ้า
ในขณะที่กุหลาบสีเหลืองและส้ม เกิดจากการมีอยู่ของรงควัตถุอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งพบได้ในพืชและผลไม้ที่มีสีเหลืองและส้มเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แครอท ฟักทอง มะละกอ
ชีววิทยาของการสังเคราะห์สีในกุหลาบ
การผลิตรงควัตถุในกุหลาบถูกควบคุมโดยยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการชีวสังเคราะห์ของฟลาโวนอยด์ ตัวอย่างเช่น ยีน DFR (Dihydroflavonol 4-reductase) มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโมเลกุลต้นแบบไปเป็นแอนโทไซยานิน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการให้สีแก่ดอกกุหลาบ ยีนเหล่านี้สามารถถูกปรับแต่งผ่านพันธุวิศวกรรมเพื่อสร้างสีใหม่ เช่น กุหลาบสีน้ำเงิน ซึ่งถูกพัฒนาโดยการนำยีนจากดอกไอริสและดอกไวโอลามาใส่ในกุหลาบ (Katsumoto et al., 2007)
จะเห็นได้ว่า…สีของกุหลาบในวันวาเลนไทน์ไม่ได้มีเพียงแค่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังเชื่อมโยงกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ เช่น ความสามารถในการเปลี่ยนสีของกุหลาบโดยการปรับค่าพีเอช หรือแม้แต่ดัดแปรทางพันธุกรรม แสดงให้เห็นถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและวันวาเลนไทน์อย่างคาดไม่ถึง
แหล่งอ้างอิง :
- Katsumoto, Y., Fukui, Y., Brugliera, F., Holton, T. A., Karan, M., Nakamura, N., … & Tanaka, Y. (2007). Engineering of the rose flavonoid biosynthetic pathway successfully generated blue-hued flowers accumulating delphinidin. Plant and Cell Physiology, 48(11), 1589-1600
- เล่าเรื่อง กุหลาบ. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://witsanook.org/?p=1116