
บทความสรุปการบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการนานาชาติ SEAMO Congress 2021
เรื่อง Project 14: Free Digital Learning for All28 เมษายน 2564
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน แต่ยังลามไปถึงภาคการศึกษาที่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน อันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความปกติใหม่ทางการศึกษา (New Normal in Education)” ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีการให้ปิดพื้นที่และห้ามเคลื่อนย้ายผู้คน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตามปกติ ทางรอดเดียวที่จะทำให้การศึกษาไม่หยุดชะงักคือการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์
จากผลสำรวจพบว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้มีลูกค้าในแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดย 55% ของจำนวนดังกล่าวเป็นลูกค้ากลุ่มการศึกษา ถือเป็นการตอกย้ำแนวโน้มใหม่ของการศึกษาในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี (Google, Temasak and Bain, e-Conomy SEA 2020) เพราะไม่ว่าครู นักเรียน หรือแม้แต่ผู้ปกครองต่างก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่การเรียนการสอนในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อีกทั้ง องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ได้เผยแพร่บทความ “OECD Future of Education and Skills 2030” ซึ่งมีใจความส่วนหนึ่งว่า “เป้าหมายร่วมกันด้านการศึกษาของทั้งโลก คือ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มี well-being หรือ สุขภาวะที่ดี (การมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี)” ซึ่งการจะก้าวไปสู่ well-being นั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องแทนที่การศึกษาแบบดั้งเดิมที่เน้นป้อนเฉพาะความรู้ทางทฤษฎี ด้วยการสร้างสมรรถนะการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันให้แก่ผู้เรียน เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานเป็นกลุ่ม และสมรรถนะที่จำเป็นอื่น ๆ ในศตวรรษที่ 21
สสวท. ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินโครงการสอนออนไลน์ Project 14 ที่จะทำให้การเรียนรู้ไม่ถูกจำกัดเพียงแค่ในห้องเรียน แต่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมเสริมสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
Project 14 ประกอบด้วยวีดิทัศน์การสอนเพื่อส่งเสริมวิถีการเรียนรู้ใหม่ที่ผู้เรียนมีแหล่งเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ หรือทบทวนบทเรียน ที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ ครูผู้สอนยังสามารถใช้แหล่งเรียนรู้นี้ประกอบการจัดการเรียนรู้ตามปกติในห้องเรียน เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน.วีดิทัศน์ที่จัดทำขึ้นใน Project 14 สอดคล้องกับตัวชี้วัดในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และครอบคลุมทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งรายวิชาพื้นฐานและเพิ่มเติม.มากไปกว่านั้น เนื้อหาและวิธีการจัดการเรียนรู้ในแต่ละบทเรียนของ Project 14 ได้สอดแทรกสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ภาพประกอบที่ชัดเจนเข้าใจง่าย เน้นส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ การสาธิตและทดลองด้วยอุปกรณ์พื้นฐานที่จัดหาได้ง่าย รวมไปถึงการทดลองเสมือนจริงที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำการทดลองได้ทุกที่แม้ไม่ได้อยู่ให้ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์
สสวท. คำนึงถึงความแตกต่างกันของผู้เรียน จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาฐานสมรรถนะ (competency-based education) ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner centered) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัด และก้าวหน้าไปตามความสามารถของตน โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต ซึ่งโครงการ Project 14 จะช่วยเติมเต็มให้ผู้เรียนแต่ละคนไปถึงเป้าหมายทางการศึกษาที่ตัวเองเป็นคนเลือก จากการที่การจัดการเรียนการสอนในยุคใหม่เน้นไปที่การศึกษาฐานสมรรถนะ รูปแบบของข้อสอบที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเป้าหมายของนักเรียน ม.ปลาย ทุกคนจึงเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในอดีตใช้ข้อสอบที่เน้นวัดเฉพาะเนื้อหาอันนำไปสู่การแข่งขันกันเรียนกวดวิชาเพื่อให้จำเนื้อหาได้มากที่สุด แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นข้อสอบที่วัดสมรรถนะอันแท้จริงของนักเรียน การเปลี่ยนรูปแบบของข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้เราทุกคนตระหนักได้ว่า “บนโลกนี้ไม่อะไรแน่นอนและอนาคตอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ” ดังนั้น พลเมืองที่โลกยุคใหม่ต้องการอาจไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ .ดังคำพูดของ Henry Mintzberg นักวิชาการด้านธุรกิจและการจัดการ ที่กล่าวว่า “When the world is predictable you need smart people. When the world is unpredictable you need adaptable people.”