
สรุปการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Learning Innovation นวัตกรรมการเรียนรู้’
ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในโรงเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 24 (วทร.24) รูปแบบออนไลน์
โควิด-19 เปรียบเหมือนเซนเซอร์รับสัญญาณและเตือนให้เราปรับตัวในวิถีใหม่ (New Normal)
ผลกระทบจากโควิด-19 กดดันให้เกิดการเรียนการสอนด้วยวิธีใหม่ (New Normal Education) แบบก้าวกระโดด การสรรหารูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ทำให้นักเรียน เรียนรู้ได้ดีขึ้น เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้น ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนดีขึ้น อัตราความก้าวหน้าในการเรียนดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้การศึกษาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ถือเป็น ‘นวัตกรรม’
นวัตกรรม เป็นการใช้ความคิด จินตนาการ ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ สร้างสรรค์ให้เกิดสินค้า บริการ การกระทำแบบใหม่ หรือทำให้ดีขึ้น
นวัตกรรมทางด้านการศึกษา (Education Innovation) หมายถึง สิ่งใหม่ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา สิ่งใหม่ที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สิ่งใหม่ที่นำมาใช้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นการประกอบเข้าด้วยกันของนวัตกรรมด้านหลักสูตร นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน นวัตกรรมด้านสื่อและเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการวัดและประเมินผล นวัตกรรมด้านการบริหารและบริการ
การเรียนการสอนด้วยวิธีใหม่จะต้อง ‘คิดกลับหัว เพื่อนวัตกรรม’ ปรับเปลี่ยนการศึกษาจากการสอนหาปลา ตามขั้นตอน เป็นการสอนให้นักเรียนรู้วิธีหาปลา ด้วยกระบวนการใหม่ที่ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นจากเดิม ตามบริบทของนักเรียนและโรงเรียน นักเรียนต้องเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ ทดลองด้วยตนเอง ใช้จินตนาการในการตั้งคำถาม คิดอย่างเป็นระบบ และหาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล หรือที่เรียกว่า Self-directed learner นั่นเอง
การมูฟออนไปเป็นการศึกษาวิถีใหม่ บนแพลตฟอร์มการบริการการศึกษาที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตและสังคมในอนาคต คุณครู นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์จินตนาการและสิ่งใหม่ ๆ ร่วมกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเทคโนโลยีแล้วลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในโลกทางกายภาพ จะช่วยให้เรากระโดดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ได้ ดังนั้นถ้าเรากล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำ ‘Think out of the box’ ย่อมเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างแน่นอน