
เวลาผ่านไปไวเหมือนติดปีก จำได้ว่าเพิ่งจะผ่านเช็งเม้งไปไม่นาน เทศกาลนี้ก็เวียนมาบรรจบครบปีอีกแล้ว
ช่วงระยะนี้จะคุ้นเคยกับชาวไทยเชื้อสายจีนเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยเป็นประจำทุกปี
ถอดรหัสความหมายของ “เช็งเม้ง” กันดีไหม
ในภาษาจีนแต้จิ๋วคำว่า “เช็ง”แปลว่า “สะอาด บริสุทธิ์” ส่วนคำว่า“เม้ง”แปลว่า “สว่าง”
“เช็งเม้ง” จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส ท้องฟ้าใสสว่าง เพราะอยู่ในฤดูใบไม้ผลิของจีน สรรพสิ่งรายรอบเขียวชอุ่มสดชื่น เหมาะกับการไปไหว้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ อันเป็นคุณธรรมของชนชาติจีนมาแต่บรรพกาล
สำหรับประเทศไทย”วันเช็งเม้ง” จะระบุบนปฏิทินว่าเป็นวันที่ 5 เมษายนของทุกปี แต่เทศกาลเช็งเม้ง จะอยู่ในช่วงวันที่ 4 – 5 เมษายน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นชาวไทยเชื้อสายจีนหลาย ๆ บ้านนิยมหนีรถติดไปไหว้ที่ฮวงซุ้ยกันล่วงหน้าก่อนวันบนปฏิทิน
อย่างไรก็ตามสำหรับบ้านเราช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว แตกต่างจากฤดูกาลในประเทศจีน บรรดาลูกหลานที่ไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยซึ่งมักจะตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี หรืออื่นๆ ก็คงเตรียมตัวรับมือกับอากาศร้อนอบอ้าวที่มาพร้อมกับแสงแดดแรงกล้า ไม่ว่าจะพกร่ม หมวก พัด แว่นตากันแดด ทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว เพื่อหลีกเลี่ยงปะทะแสงแดดจัดจ้าในที่โล่งแจ้ง
คงไม่ดีแน่ถ้าผิวสวย ๆ ของเราเกรียมจากการโดนแดดมากเกินไป หรือที่เรียกว่า Sunburn ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (Ultraviolet) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ยูวี (UV) ของแสงแดดที่ทำลายดีเอ็นเอบนเซลล์ผิวชั้นนอก
ทั้งนี้ปกติร่างกายจะมีกลไกป้องกันและแก้ไขการกลายพันธุ์จากการที่เซลล์ผิวถูกรังสียูวี แต่หากเซลล์ผิวได้รับรังสียูวีมากเกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ เป็นผลให้เซลล์ตาย หลอดเลือดจะขยายตัวเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด นำไปสู่การกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันออกมาสู่ผิวหนังเพื่อช่วยทำความสะอาด เกิดเป็นอาการบวมแดงและอักเสบ
ดวงอาทิตย์ปล่อยรังสียูวี 3 ชนิดได้แก่ UVA UVB และ UVC ซึ่งรังสียูวีซีจะถูกดูดซับโดยชั้นบรรยากาศของโลก แต่รังสียูวีเอ และ ยูวีบี สามารถเดินทางมายังพื้นผิวโลก และทะลุชั้นผิวหนังที่ไม่มีการป้องกันได้ โดยรังสียูวีบีสามารถแทรกซึมไปยังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของผิวหนัง ในขณะที่รังสียูวีเอก็สามารถเจาะทะลุผ่านผิวหนังลงไปได้ในชั้นผิวหนังที่ลึกกว่า
เรียนรู้รายละเอียดของแสงแดดและความเสียหายของดีเอ็นเอที่ชั้นผิว รวมทั้ง ผลกระทบของแสงแดดในระดับภูมิคุ้มกัน เพิ่มเติมได้ที่ คลังความรู้ SciMath สสวท. https://www.scimath.org/article-biology/item/11346
วิธีป้องกัน “ผิวถูกแดดเผา” จึงควรทาครีมกันแดดและปกป้องผิวด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันควรให้เวลาผิวได้รักษาตัวเอง โดยในระหว่างการรักษาผิวนั้น สามารถบรรเทาอาการแสบร้อนได้ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ดื่มน้ำให้พอเพียง หรือการประคบเย็น
แต่ถ้าผิวหนังมีอาการแสบร้อน เจ็บปวด มีแผลพุพอง คลื่นไส้ เป็นไข้ หรือ เวียนศีรษะรุนแรง ก็อย่านิ่งนอนใจควรเร่งไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ดีขึ้นโดยเร็ว
และอย่าลืมว่าสภาพดินฟ้าอากาศของบ้านเราในช่วงเทศกาลเช็งเม้งนั้นร้อนอบอ้าว อาหารที่ลูกหลานนำไปไหว้บรรพชนจึงควรเลือกให้เหมาะสมและระวังอาหารประเภทที่บูดเสียง่ายด้วย ไม่ว่าเทศกาลไหน ๆ วิทยาศาสตร์ก็ตามไปเป็นเพื่อนได้ตลอด
แหล่งข้อมูล : 1) https://www.arsomsiam.com/qingming และ 2) https://www.bangkokbiznews.com/news/997084