สสวท. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ “สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมีโรงเรียนศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จำนวน 30 ศูนย์  จากทั่วประเทศ รวมครูที่อบรมทั้งสิ้น 121 คน ตั้งแต่วันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมกราฟ กรุงเทพมหานคร

การอบรมในครั้งนี้ภายใต้หลักสูตร สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกิจกรรมสะเต็มเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดที่ใช้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยื่น (ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ) และสมรรถนะเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งตัวชี้วัดอัจฉริยะลักษณะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ส่งเสริมคุณลักษณะของผู้มีความสามารถพิเศษ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลักคือAqua Innovator สร้างแทงก์ใหม่ต้านภัยแล้ง และ Aqua Rescue กู้ภัยขยะเพื่อแม่น้ำและมหาสมุทร และยังมีกิจกรรม Let’s Create! ปรับแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่ให้ครูได้ระดมความคิดเพื่อปรับแผนการเรียนรู้ของกิจกรรมหลักให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นและเหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนในเรียนของตน พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดแลกเปลี่ยนกันทั้ง 30 โรงเรียน ในช่วง Show and Share ที่มีการซักถามระหว่างเพื่อนครูและผู้เชี่ยวชาญ

การอบรมในครั้งนี้ สสวท. ได้สร้างพื้นที่ในการออกแบบร่วมกัน (Co design) ระหว่าง สสวท. และครู โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เชื่อมโยงแนวคิดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนมีเสรีในการแสดงความคิดเห็น มีการเลือกและการตัดสินใจในกระบวนการแก้ปัญหาและออกแบบเชิงวิศวกรรม นอกจากนี้ ครูที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้จะนำหลักสูตรไปขยายผลกิจกรรมให้กับเพื่อนครูในโรงเรียนและจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนปลายในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2568 เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงในการแก้ไขปัญหา สร้างสิ่งประดิษฐ์ ป้องกันภัยพิบัติผ่านสถานการณ์จำลองที่กำหนดไว้ ซึ่งได้สร้างขึ้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ฝึกการทำงานเป็นทีมเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการสวมบทบาทของผู้เชี่ยวชาญตัวน้อย สร้างความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย  ซึ่งนับเป็นภารกิจในการแก้ปัญหาที่มาพร้อมกับความท้าทาย  จูงใจให้นักเรียนค้นหาวิธีแก้ปัญหาตามแนวสะเต็มศึกษา ฝึกฝนจิตนิสัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์  ได้ลองสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อันจะส่งผลให้นักเรียนมีความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อันจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของโลกอีกด้วย

ลิงก์รูปภาพ :
https://drive.google.com/file/d/1WYkWFGnb4x7dcwloBCk0vMGjCyLuSt27/view?usp=sharing


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content