
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. นำทีมประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีใจความสรุปได้ดังนี้
ปัจจุบัน มีบัณฑิตทุน พสวท. จำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาและออกไปปฏิบัติงานตอบแทนทุนในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ สร้างองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา บัณฑิตทุน พสวท. จำนวนหนึ่งได้พัฒนานวัตกรรม งานวิจัย และสร้างการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 ที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายฐานหน่วยงานเอกชนเพื่อปฏิบัติงานตอบแทนทุนสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. เพิ่มเป็น 47 แห่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับเพิ่มสาขาวิชาที่นักศึกษาทุน พสวท. สามารถเลือกศึกษาได้ในระดับ ป.ตรี เพื่อขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต
จากเดิมสามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 6 สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์) จึงได้ปรับให้สามารถเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้อีก 42 หลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ