Project 14 ท้าทายการศึกษาไทยสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์

Project 14 ท้าทายการศึกษาไทยสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์“หวังใช้สื่อนำร่องแก้ปัญหาการเรียนรู้ให้ครู นักเรียน ผู้ปกครองช่วง COVID-19”

จากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้มีความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นทุกวัน และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีการใช้งานสูงขึ้น รูปแบบการเรียนการสอนวิถีใหม่ ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และพัฒนาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้เพียงแค่พัฒนาสื่อดิจิทัลไว้รองรับเท่านั้น แต่ยังได้เล็งเห็นถึงความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคตโดยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ฯ อย่างเต็มรูปแบบ

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า “สสวท. มุ่งพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ในอนาคตให้มีการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อไปพัฒนาการเรียนรู้ ศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน ประเมิน วางแผนการจัดการเรียนรู้ และพยากรณ์อนาคตที่สอดคล้องกับสภาพจริงได้ และดำเนินงานที่ควบคู่กันไป คือ การส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ให้ผู้เรียนมีทักษะสอดคล้องกับการเรียนและการทำงาน   ในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งวิจัย และพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ปรับสู่รูปแบบดิจิทัล   เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา เน้นการนำไปใช้ที่ตอบสนองการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับการศึกษาไทย อีกทางหนึ่งด้วย”

ช่วงที่ผ่านมา สสวท. ได้วิจัย และพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ โครงการ Project 14 เพื่อพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ โดยผลิตสื่อที่เน้นความเข้าใจ เชื่อมโยงชีวิตจริง สะดวกในการเข้าถึง และใช้งาน สอดคล้องกับตัวชี้วัดกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี  ซึ่ง สสวท. ผลิตคลิปการสอนออนไลน์ที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามหนังสือเรียน สสวท. ครบทุกหัวข้อ ตั้งแต่ ป. 1 ถึง  ม. 6 แล้ว  และมีเนื้อหาตรงตามหลักสูตรครบทุกตัวชี้วัด ผู้สนใจสามารถเข้าถึงคลิปการสอนทั้งหมดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ช่องยูทูป IPST Proj14 เฟสบุ๊ค IPST Proj14 และเว็บไซต์ IPST Proj14 ซึ่งมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งาน เพื่อนำข้อมูล ไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด สสวท. ได้จัดเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการใช้สื่อการเรียนการสอน Project 14 เพื่อถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำคลิปวีดีโอการสอนไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบ On-site (ในห้องเรียนปกติ) Online (ห้องเรียนแบบออนไลน์) และ On demand  (การเรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ)  โดยมีครู และผู้ปกครองได้เล่าประสบการณ์ใช้งาน ดังนี้

ครูรัตนากร สังขรณ์  โรงเรียนบ้านศาลาลัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาจากโรงเรียนขยายโอกาสฯ ที่เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึง ม. 3 เล่าว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่รับจ้าง ทำสวน ทำไร่ การเรียนรู้ของนักเรียนจึงเน้นทักษะการใช้ชีวิต และการเอาตัวรอดในบริบทท้องถิ่น ครูพยายามหารูปแบบการสอนเพื่อให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน ได้ทักษะการเรียนรู้ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ รูปแบบเดิมก่อน COVID-19 คือ การเรียนรู้การสืบเสาะหาความรู้ แต่พอช่วง COVID-19 นักเรียนไม่พร้อมที่จะเรียนแบบออนไลน์ได้ ครูจึงได้ทำใบงาน ใบกิจกรรมให้นักเรียนใช้เพื่อฝึกทักษะที่บ้าน แต่ใบงานที่นักเรียนส่งกลับมาไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้      ที่มุ่งหวัง ต่อมาเป็นช่วงที่สามารถจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ แต่ยังต้องมีการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ครูจึงนำคลิป Project 14 มาใช้สอนในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากครูผู้สอน  “สื่อ Project 14 ตอบโจทย์โรงเรียนที่ขาดแคลนครูเฉพาะด้าน ครูได้ศึกษาเนื้อหาขั้นตอนกระบวนการทดลองเพื่อเพิ่ม หรือทบทวนความรู้ก่อนนำไปใช้สอน และหากครูสามารถเพิ่มเติมคำถามให้สอดคล้องตามบริบทของนักเรียนได้ก็จะเพิ่มการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น”

ครูบรรณารักษ์ ตัญจพัฒน์กุล โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่  เล่าว่า ได้นำบทเรียนออนไลน์ Project 14 ไปใช้      ตามแนวทาง Flipped Classroom โดยจะพิจารณาก่อนเลือกคลิปไปใช้เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไม่ลำบากนัก เริ่มจากครูให้ลิงก์คลิป Project 14 ให้นักเรียนไปดูก่อนจึงค่อยนำมาอภิปรายร่วมกัน จากนั้นครูนำคลิป Project 14 ไปใช้ร่วมกับ edpuzzle.com ซึ่งนักเรียนจะมีปฏิสัมพันธ์กับครู ครูแทรกคำถามเข้าไปขณะที่นักเรียนดูเนื้อหาจากคลิปได้  มีช่วงที่นักเรียน กดหยุดคลิป เพื่อทำกิจกรรมการทดลองตามคลิป หรือหยุดคลิปชั่วคราวเพื่อตอบคำถาม เมื่อมอบงานไปแล้ว ครูสามารถติดตามการใช้งานของนักเรียนได้ด้วย เมื่อครูตรวจงานแล้วก็จะส่งผลกลับไปให้นักเรียนได้ ครูสามารถนำผลการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียนไปปรับประเด็นที่จะเสริมในชั้นเรียน กับนักเรียนห้อง IEP ซึ่งเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ครูได้ส่งคลิปนี้ให้นักเรียนเรียนรู้ล่วงหน้าก่อนเรียนกับครูต่างชาติ จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจง่ายขึ้นในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ครูไม่ได้เจอกับนักเรียน จึงนำ Project 14 ไปทดแทนการทดลองจริง ซึ่งคลิปเกี่ยวกับสาธิตการทดลอง จะเหมาะกับโรงเรียนที่มีห้องปฏิบัติการจำกัด หรือวัสดุอุปกรณ์ไม่พอ  อีกด้วย และการใช้งานอีกรูปแบบ คือ ให้นักเรียนไปศึกษาก่อนทำใบงานเพื่อทบทวนเนื้อหาหลังจากครูนำสื่อนี้ไปใช้พบว่านักเรียนบางคนจากเดิมเรียนในชั้นเรียนไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง กลับมีความกระตือรือร้น และตอบสนองต่อกิจกรรมการเรียนมากขึ้น

“ครูในยุคโควิดต้องเผชิญกับการปรับตัวตามวิถีใหม่ ข้อดีของสื่อ Project 14 คือ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ครูสามารถนำสื่อไปใช้กับรูปแบบการเรียนรู้ได้หลากหลาย อีกทั้งยังช่วยครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ไม่ได้จบตรงวุฒิได้มากในการเตรียมความพร้อมก่อนสอน ความท้าทายของผู้สอน คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำสื่อนี้ไปใช้ได้ตามบริบทที่เหมาะสม เพราะครู แต่ละคนมีข้อจำกัดที่ต่างกัน สิ่งสำคัญ คือ ครูควรวัด และประเมินผลได้อย่างเหมาะสม เช่น ตัวครูเองที่นำสื่อไปใช้ทดแทน การทดลองในชั้นเรียน ปลายทางคืออยากให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในระหว่างการทดลอง โดยอาจจะมีการประเมินเพิ่มเติมภายหลัง เช่น ครูส่งคลิปเรื่องแรงให้นักเรียนทดลองก่อนทางออนไลน์ ภายหลังได้จัดสอบวัดปฏิบัติการอีกนอกเหนือจากการวัดผลจากใบงาน/แบบฝึกหัดที่ให้นักเรียนทำส่งมา”

ครูปาริษา นาคะ โรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว เล่าว่า นักเรียน ม.ปลายที่สอนอยู่มีห้องละ 10 – 20 คนเท่านั้น   ครูจึงดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง แต่เมื่อนักเรียนหยุดอยู่บ้านในช่วง COVID-19 จะไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์เพราะผู้ปกครองให้ไปช่วยงานด้านการเกษตร ประกอบกับนักเรียนบางส่วนไม่มีเครื่องมือเรียนออนไลน์ สัญญานอินเทอร์เน็ตก็ไม่เอื้ออำนวย เพราะมี  ป่าเขาล้อมรอบ จึงนำเนื้อหาบทเรียนส่งให้นักเรียนดู ส่งลิงก์การเข้าถึงสื่อ Project 14 ตามกลุ่มไลน์ กลุ่ม facebook ที่สร้างไว้ และมอบหมายงานตามแบบฝึกหัดของ สสวท. ซึ่งไม่แตกต่างจากเนื้อหาในชั้นเรียน เพราะครูสอนตามหนังสือ สสวท. อยู่แล้ว หลังจากนั้น ครูจะนัดนักเรียน ม.4 – ม.6 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามเวลาที่นักเรียนทั้งห้องสะดวก ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนจะซักถามเกี่ยวกับการทำแบบฝึกหัด ถึงแม้ว่านักเรียนจะมีอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม แต่นักเรียนก็มีใจพร้อมที่จะเรียนกับครู นักเรียนได้เห็นครูที่สอนในคลิปเป็นครูใหม่ ๆ ก็จะตื่นเต้นแล้วมาคุยกันว่าครูคนนั้นคนนี้สอนอย่างไร จากการใช้งานพบว่านักเรียน 1 ห้อง จะมีทั้งนักเรียนกลุ่มที่สนใจเรียน และไม่สนใจเรียนเท่าที่ควร วิธีแก้ปัญหา คือ สร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น ครูก็จะให้เล่นเกม ถามปัญหา แข่งกันคิด มีการให้รางวัล /คะแนนเล็ก ๆ น้อย ๆ และทำให้นักเรียนกลุ่มที่ไม่สนใจเกิดความสนุก และสนใจการเรียนมากขึ้น

 “ขั้นตอนที่นำไปใช้เริ่มจากศึกษาบทเรียนใน Project 14 ส่งลิงก์ที่ต้องการสอนให้นักเรียนดู แล้วนัดหมายให้      เรียนออนไลน์ร่วมกันเพื่อสอนนักเรียนเพิ่มในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ พูดคุยซักถามข้อสงสัย สุดท้ายคือการประเมินผลนักเรียน โดยสังเกตจากข้อซักถามของนักเรียน จากการบ้านในแบบฝึกหัดของ สสวท. และสรุปบทเรียนของนักเรียนก่อนสอบเก็บคะแนน  ส่วนการนำไปใช้สำหรับครูผู้สอนวิชาอื่นที่มาช่วยสอน ครูจะศึกษาสื่อก่อนไปสอนได้ และสื่อนี้ดีตรงที่ดูที่ไหน เมื่อไหร่ และ ดูซ้ำก็ได้ หากนักเรียนดูซ้ำแล้วยังไม่เข้าใจก็สอบถามครูได้ ทำให้นักเรียนพร้อมที่จะเรียนออนไลน์มากขึ้น และสำหรับบางโรงเรียนที่ครูไม่สามารถผลิตสื่อการสอนเองได้ สื่อนี้จะช่วยได้มาก”

คุณแม่กาญจนา จุฒาริกุล ผู้ปกครองที่นำบทเรียนออนไลน์ Project 14  ไปใช้ในการจัดการเรียน Homeschool ให้กับบุตรชาย กล่าวว่า คุณแม่เป็นแม่บ้านเต็มเวลา ซึ่งลูกเรียนเองที่บ้าน ได้เลือกใช้บทเรียนออนไลน์ Project 14 วิชาวิทยาศาสตร์สอนลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนั้นลูกเรียน ป.3 วิธีการ คือ แม่เปิดคลิปให้ลูกดูพร้อมกัน ซึ่งแม่จะคอยอธิบายให้ด้วยหากลูกยังไม่เข้าใจเนื้อหาในคลิป แต่ละบทเรียนของ สสวท. อธิบายได้ละเอียด เข้าใจง่าย มีการทดลองไปพร้อมกัน ทำให้ลูกสนุก ตื่นเต้น ลุ้นผลการทดลองไปด้วย อุปกรณ์ทดลองตามคลิปหาง่าย แต่ถ้าครั้งใดที่อุปกรณ์ไม่พร้อมก็จะให้ดูคลิปแล้วบันทึกผลการทดลอง และทำแบบฝึกหัดท้ายบทเรียนหรือการทดลอง ข้อเสนอแนะ คือ อยากให้เพิ่มเนื้อหาในส่วนของการทำแบบฝึกหัดท้ายบทเรียน อยากให้เฉลยแบบทดสอบท้ายคลิปเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ปกครอง และลูกอยากให้จัดทำคลิปที่มีเด็ก ๆ มาร่วมทดลองแทนตัวการ์ตูนเพื่อให้รู้สึกว่ามีเพื่อนๆ ร่วมเรียนไปกับเขาด้วย 

ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่เริ่มเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ Project 14 เดือนมิถุนายน 2563 ก็มีผู้เข้า       ใช้งานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยช่วงทดลองใช้งานเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่ามีสถิติการเข้าใช้งานเพียงประมาณ 3 หมื่นรายต่อวัน แต่ช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้มีการเข้าใช้งานมากขึ้นถึง 3 แสนรายต่อวันแล้ว จุดเด่นของสื่อ Project 14  คือ เป็นคลิปวิดีโอที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้หรือการแก้ปัญหา กระตุ้นให้นักเรียนคิด และค้นพบความรู้โดยใช้การสังเกตปรากฏการณ์รอบตัว สามารถประยุกต์อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายมาใช้ในการทำกิจกรรม หรือการทดลองช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning จากสถิติการใช้งานสะท้อนให้เห็นว่านักเรียน และครูจำนวนมากสามารถใช้สื่อการสอนออนไลน์ Project 14 ได้ หลายโรงเรียนได้ใช้ Project 14 ในการเรียนออนไลน์กันแล้ว หวังว่า Project 14 จะบรรเทาความเดือดร้อนของการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 และช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน” ทั้งนี้ สสวท. ได้ดำเนินงานภายใต้จุดเน้นเพื่อ “สร้างเด็กฉลาดรู้ ครูคุณภาพสูง  ยกระดับการศึกษาไทย แข่งขันได้ด้วยฐานสมรรถนะ” มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และจะขับเคลื่อนต่อไปในปี 2565

สินีนาฏ  จันทะภา (ผู้ชำนาญฝ่ายยุทธศาสตร์ แผนและประกันคุณภาพ สสวท.) : ผู้เขียน


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content