สสวท. เผยผลงานปี 64 และนโยบายขับเคลื่อนภารกิจปี 65 สอดรับแผนปฏิรูปประเทศ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลให้การศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ  ได้บริหารจัดการต่อสภาวะการณ์ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที  มีการปรับแผนการดำเนินงานเป็นแบบออนไลน์ทดแทน การจัดกิจกรรมตามปกติ โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

การวิจัย พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ สสวท. ได้พัฒนาหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับชั้นในรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัย ผสานสื่อเสมือนจริงสามมิติ น่าสนใจ และสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน เน้นสื่อรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทั้งสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อรองรับการใช้งานในวงกว้างสำหรับนักเรียนทุกกลุ่ม และครูทุกระดับชั้น รวมไปถึงสื่อเพื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์ใช้รองรับสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 และช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

พัฒนาสื่อในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ 65 พรรษา (สื่อ 65 พรรษา) สำหรับนักเรียนขาดแคลนโอกาสทางการศึกษาที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครูสำหรับการจัดการเรียนรู้ในลักษณะของชุดการเรียนรู้สมบูรณ์แบบที่อิงมาตรฐานหลักสูตร เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถะ เน้นกิจกรรม การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมของผู้เรียนรอบด้าน มีการวัดประเมินผลที่สะท้อนถึงการพัฒนา และความสำเร็จของผู้เรียน อีกทั้ง ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าต่อเนื่องในลักษณะการเรียนรู้ตามความสนใจ

นอกจากนั้นยังได้พัฒนาเครื่องมือการวัด และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ โดยร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) พัฒนากรอบการประเมิน และข้อสอบ O-NET และร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยพัฒนาข้อสอบกลุ่มความถนัดทางวิชาการ และวิชาชีพ (PAT) และวิชาสามัญ ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องมือในการสอบเข้า เลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เน้นการวัดผลเชิงสมรรถนะ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการวัด และประเมินผลที่เน้น วัดสมรรถนะมากกว่าความรู้ ความจำ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เน้นการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา สามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริง และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีตามมาตรฐานของ สสวท. (โรงเรียนคุณภาพ SMT)  เพื่อส่งเสริม และยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้นักเรียนมีทางเลือกในการเข้าศึกษาในโรงเรียนดีใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูงในทุกอำเภอ กว่า 1,500 โรงเรียน

การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษาตามแนวทาง สสวท.  โดยพัฒนาหลักสูตร และสื่ออบรมครูด้วยรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ใน 4 สังกัด ได้แก่ สพฐ. สช. สถ. และ กทม. ให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จัดทำหลักสูตรอบรมครู เอกสารคู่มือและสื่อประกอบการอบรม รวมทั้งจัดอบรมครูผู้สอนทุกสังกัด ทุกจังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564  โดยเปิดรับผู้เข้ารับการอบรมไม่จำกัดจำนวนและจะมีการประเมินผลตามเกณฑ์ที่กำหนด

การเพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่ สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดอบรมครู เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะที่ส่งเสริมความฉลาดรู้ในโรงเรียนอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์จะพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้ดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพ 

การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาสื่อ และเครื่องมือสมัยใหม่ที่ช่วยในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งช่วยให้มีแนวทางที่หลากหลายในการจัดการเรียนการสอนให้เข้าถึงการใช้งานสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมกับยุคสมัย โดยพัฒนาศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สสวท. (IPST Learning Space)  วิจัย และพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ (โครงการ Project 14) ที่ใช้งานได้ในโรงเรียน และสอดคล้องกับบริบทการใช้งานสื่อดิจิทัลของสังคมไทย

การส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) โดยพัฒนา และส่งเสริมการใช้หลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ด้าน Coding และการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และการใช้ตรรกะ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของครู และบุคลากรทางการศึกษาด้านวิทยาการคำนวณเพื่อมุ่งเน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะที่สำคัญในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ทั้งพื้นฐานความคิดเชิงคำนวณพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร โดยอบรมครู และบุคลากรทางการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาด้านวิทยาการคำนวณไปแล้วกว่า 190,000 คน 

การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0  ให้กับนักเรียนผู้รับทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) นักเรียนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และนักเรียนโครงการโอลิมปิกวิชาการร่วมกับมูลนิธิ สอวน. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายผู้รับทุนส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)

ในส่วนของนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของ สสวท. สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ยังคงดำเนินงานภายใต้สโลแกน “สร้างเด็กฉลาดรู้ ครูคุณภาพสูง ยกระดับการศึกษาไทย แข่งขันได้ด้วยฐานสมรรถนะ” เชื่อมโยงกับแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) เตรียมครู และนักเรียนไทยให้มีความพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสทางการศึกษา 

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า “จุดเน้นของ สสวท. ในปี 2565  จะมุ่งวิจัยและพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ปรับสู่รูปแบบดิจิทัล เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา เน้นการนำไปใช้ที่ตอบสนองการเรียนรู้รูปแบบใหม่ พัฒนาสื่อสำหรับนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร หรือด้อยโอกาสทางการศึกษา พัฒนา และส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในทุกระดับชั้น  พัฒนาแนวทางการวัด และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ   พัฒนาเครื่องมือในการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (TCAS) โดยเน้นการวัดผลตามฐานสมรรถนะ  พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระวิชาที่ สสวท. รับผิดชอบ และครอบคลุมทุกระดับชั้น เพื่อเป็นต้นแบบระบบปัญญาประดิษฐ์ ในการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมผู้เรียน ประเมิน วางแผนการจัดการเรียนรู้ และพยากรณ์อนาคตที่สอดคล้องกับสภาพจริง ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ให้ผู้เรียนมีทักษะสอดคล้องกับการเรียนและการทำงานในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content