“ฐานสมรรถนะ” จุดเน้นของ สสวท. ปี 2565

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายให้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น สสวท. มีการดำเนินงานสอดรับกับนโยบายดังกล่าวซึ่งเริ่มนำร่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเปลี่ยนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีภายใต้   การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  การดำเนินงานประกอบด้วยการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ  รวมไปถึงการวัดและประเมินผลเชิงสมรรถนะอย่างเต็มรูปแบบ โดยโครงการสำคัญของ สสวท. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  ที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ฯ ตามแนวทางฐานสมรรถนะ ได้แก่

การพัฒนาและส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะในโรงเรียนทุกระดับชั้น  โดยจะพัฒนาสื่อ พัฒนาผู้เรียน และส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ซึ่งได้พัฒนาและขยายขีดความสามารถระบบอบรมครูเพื่อรองรับการจัดอบรมครูที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ให้รองรับผู้เข้าร่วมการอบรมจำนวนมาก วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ครอบคลุมกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและโค้ดดิ้ง ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ดำเนินโครงการสอนออนไลน์ Project14 เพื่อการเรียนรู้ตามวิถีใหม่ รวมทั้งยกระดับคุณภาพโรงเรียนระดับอำเภอ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (โรงเรียนคุณภาพ SMT ตามมาตรฐานสากล) ตามแนวทางฐานสมรรถนะ

การพัฒนาแนวทางการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ  โดยพัฒนาเครื่องมือในการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา (TCAS) วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการวัดสมรรถนะร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พัฒนากรอบการประเมิน และข้อสอบ O-NET รายวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ชั้น ป.6  ม.3 และ ม.6 และร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยพัฒนาข้อสอบกลุ่มความถนัดทางวิชาการ และวิชาชีพ (PAT) และวิชาสามัญ ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งเน้นการวัดผลเชิงสมรรถนะ ไม่เน้นให้แก้สมการยาก ๆ แต่เน้นวัดการนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหา และเชื่อมโยงความรู้ในการตอบโจทย์ปัญหา ส่วนการวัดผลและประเมินผลในระดับในระดับนานาชาติได้ร่วมกับโครงการ PISA ซึ่งวัดความฉลาดรู้ (Literacy) หรือสมรรถนะในการเชื่อมโยงความรู้ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียน

“สสวท. หวังว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้ครูผู้สอนทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี มีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 มีระบบการจัดการเรียนรู้เชิงสมรรถนะที่เน้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาและสถานการณ์เชิงบูรณาการตามแนวทางการประเมินผล PISA และสามารถขยายผลด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในสถานศึกษาได้อย่างยั่งยืน นักเรียนมีความรู้ ความสามารถด้านการแก้ปัญหา  การคิดวิเคราะห์ การให้ตรรกะ การคิดเชิงวิพากย์ และใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา การดำรงชีพและเป็นประชากรที่มีความรู้ นักวิชาชีพฐานดีต่อไปในอนาคต” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content