สสวท. ร่วมกับ เนคเทค-สวทช. เดินหน้าโครงการ Data Science@School with GLOBE

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมมือกันดำเนิน “โครงการ  Data Science@School with GLOBE” เพื่อส่งเสริม  ครูและนักเรียนในการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ผ่านการลงมือตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนตามหลักวิธีดำเนินการของ GLOBE และส่งเสริมการทำงานวิจัยระดับนักเรียน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาสมรรถนะหลักที่สำคัญของนักเรียน มีการเรียนรู้ และเกิดความตระหนักถึงสภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันรับผิดชอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลก ที่จะร่วมมือ ป้องกัน แก้ไข และดูแลรักษาทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่าสสวท. ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียน โดยได้พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี แก่ครูและนักเรียนทุกระดับการศึกษา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (พ.ศ. 25612580) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างรอบด้านควบคู่กับการสร้างการเติบโต  บนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพัฒนานักเรียนให้เกิดทักษะ สมรรถนะที่สำคัญ และความสามารถในการเรียนรู้ที่สอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ในบริบทของโลกและทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และหลักวิธีดำเนินการตรวจวัดของ GLOBE ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่ง GLOBE เป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติ ที่สนับสนุนโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA)  มี สสวท. ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ  ส่งเสริมให้นักเรียนลงมือตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน และส่งเสริมการทำงานวิจัยระดับนักเรียน จนเกิดเป็นทักษะ   การเรียนรู้ตลอดชีวิตสสวท. จึงได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินงานโครงการ Data Science@School with GLOBE ที่เป็นกำลังที่เข้มแข็งในการส่งเสริมให้ครูและนักเรียนได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งการใช้ โปรแกรมทางด้าน Coding เพื่อเรียนรู้และเข้าใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการร่วมพลังที่สำคัญในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และสมรรถนะที่สำคัญของนักเรียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เนคเทค-สวทช.   จะเดินหน้าร่วมกันในวันนี้ คือ ผลงานวิจัยพัฒนาที่ก่อร่างสร้างเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ KidBright ที่เป็นเครื่องมือและโปรแกรมทางด้าน Coding, BigStream ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางด้าน Big Data และเทคโนโลยีทางด้าน IoT ที่ชื่อว่า NETPIE มาบูรณาการร่วมกันเป็น “ระบบอุตุน้อย” ซึ่งประกอบด้วย สถานี UtuNoi (หรือสถานีตรวจวัดสภาพอากาศขนาดเล็ก) พร้อมเว็บแอปพลิเคชัน UtuNoi WATCH และ UtuNoi PLAYGROUND ภายใต้โครงการ Data Science@School กับ สพฐ. ต่อมาเกิดความร่วมมือกับ สสวท. จนเป็นโครงการ Data Science@School with GLOBE และเราจะจัดให้มีการอบรมการใช้งานระบบอุตุน้อยให้แก่ครูที่ร่วมโครงการ พร้อมการสนับสนุนและร่วมมือกับ สสวท. ในการส่งเสริมและส่งผลงานวิจัยระดับนักเรียนเข้าร่วมการประกวดงานวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้นโดย สสวท.  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราได้ร่วมกันสร้างรากฐานที่สำคัญ  ในการพัฒนาเยาวขนและนวัตกรรมของประเทศไทย สามารถพึ่งพาเทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรม ภายในประเทศให้ขยับสูงขึ้นเป็นลำดับ

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะได้ช่วยส่งเสริมให้ครูและนักเรียน ได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงและการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งสถานีอุตุน้อยในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีการพัฒนาข้อมูลตรวจวัดสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือได้ เผยแพร่และส่งเข้าสู่ฐานข้อมูล GLOBE ของ The GLOBE Program เพื่อการศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการตรวจวัดและเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมตามหลักวิธีดำเนินการตรวจวัด ของ GLOBE ได้อย่างถูกต้อง และนำไปบูรณาการในชั้นเรียน ต่อไป 

ข้อมูลเพิ่มเติม

GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) เป็นโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ที่เน้นความร่วมมือระหว่างนักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน ในการส่งเสริมการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งมีชีวิตและสิ่งปกคลุมดิน ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการทำงานวิจัยระดับนักเรียน โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาของนักเรียนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการเกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเกิดความตระหนักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://globethailand.ipst.ac.th

KidBright

สถานีวัดสภาพอากาศ (อุตุน้อย) พื้นฐาน ด้วยบอร์ด KidBright  บอร์ด KidBright มีศักยภาพในการเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์และส่งข้อมูลที่เก็บได้ขึ้นคลาวน์ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากบอร์ด KidBright ที่กระจายอยู่ในโรงเรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลเหล่านี้ มาใช้ประโยชน์ ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนาต่อยอดบอร์ด KidBright ให้เป็นสถานีอุตุน้อย โดยการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศ ได้แก่ เซนเซอร์วัดความชื้น เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดความเร็วลมและความเร็วลม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยี  Big Data และ IoT สามารถส่งข้อมูลสภาพอากาศไปแสดงบน UtuNoi WATCH ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับติดตามข้้อมูลสภาพอากาศจากสถานีอุตุน้อยแบบเรียลไทม์ ใช้งานได้ทั้งบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน อีกทั้งข้อมูลสภาพอากาศยังถูกส่งไปรวบรวมที่ UtuNoi PLAYGROUND ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ข้อมูล บนพื้นฐานข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีอุตุน้อยทั่วประเทศ และเปิดให้ใช้งานสาธารณะ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kid-bright.org/kidbright


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content