
Project 14 สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล สสวท. ตัวช่วยการศึกษาไทยช่วง COVID-19 ยกระดับการเรียนรู้วิทย์ คณิต เทคโนโลยี ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างสมรรถนะเพื่อคนไทย
จากเวทีระดมสมอง ในประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่พร้อมของโรงเรียนขนาดกลาง-เล็ก” โดยมีวิทยากร จากหลายองค์กร ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขยายผล เพื่อการศึกษาไทย กับ Thailand Social Development Forum – Education…เพราะปัญหาการศึกษาเป็น “โจทย์ร่วม” ของทุกคน ประกอบด้วย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร. รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา Unicef UNICEF Thailand ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปีจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) IPST Thailand ดร. อาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ คุณพัดชา มหาทุมะรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มูลนิธิเพื่อคนไทย คุณธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง และ Chief Social Impact Officer, Learn Education LEARN Corporation คุณวิเชียร พงศธร คณะทำงานภาคีเครือข่ายงาน Good Society Summit 2021 และดำเนินการเสวนาโดย คุณธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส The Active เมื่อ 1 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ทาง Facebook LIVE ช่อง Thai PBS และช่องทางอื่น ๆ ของแต่ละองค์กร ด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. ได้กล่าวในประเด็น Project 14 ทางออกในอนาคต พร้อมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่า สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการศึกษา ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดในอนาคต หรือที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในขั้นต้นถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นอย่างฉับพลัน จากการศึกษาของ OECD พบว่า หลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย นอกจากนักเรียนส่วนมากจะกลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนตามปกติแล้ว หนึ่งสิ่งที่จะเพิ่มเข้ามาคือพฤติกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) เนื่องจากหลายโรงเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อออนไลน์ ได้ใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นคว้าหาความรู้ และใช้เครื่องมือหลายอย่างช่วยในการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนในอนาคตจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป สู่การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เรียนรู้ได้ทุกเวลา เรียนรู้ได้ตามความสนใจ ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ดังกล่าว สสวท. ได้เห็นถึงความลำบากของครู และผู้เรียน เมื่อโรงเรียนเปิดไม่ได้ และคุณครูยังขาดความพร้อมในเรื่องการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ การอัดคลิปสอน การจัดทำสื่อออนไลน์ ดังนั้น สสวท. จึงได้วิจัยและพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ภายใต้ชื่อ Project 14 โครงการเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต โดย สสวท. ได้ร่วมมือกับนักวิชาการและครูที่มีประสบการณ์พัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผลิตสื่อการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ที่เน้นความเข้าใจ เชื่อมโยงชีวิตจริง ใช้งานง่าย และเข้าถึงได้ทุกเวลา มีคุณภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบัน สสวท. ได้ผลิตคลิปการสอนออนไลน์แล้วกว่า 3,000 คลิปวิดีโอ ครอบคลุมทุกเนื้อหาและทุกชั้นปี ตั้งแต่ ป. 1 ถึง ม. 6 ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตรงตามหนังสือเรียน สสวท. ผู้สนใจสามารถเข้าใช้งานคลิปการสอนทั้งหมดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ยังกล่าวอีกว่า นักเรียนที่สอบได้คะแนนดีหรือ ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป เพราะมาตรวัดแห่งโลกอนาคตกำลังมองหาคนสามารถปรับตัวและ เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมโลกได้ดี ตัวช่วยสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการสนับสนุนให้นักเรียนและประชาชนทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดจากการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างเท่าเทียมกัน เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาไม่เว้นแม้แต่สถานการณ์ COVID-19


นอกจากการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ Project 14 เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในยุคนิวนอร์มัลแล้ว สสวท. ยังร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดทำข้อสอบ TCAS เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเน้นวัดผลจากกระบวนการการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์ และการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูล มากกว่าการวัดเนื้อหาและความจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมต่อการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะของประเทศ
ผู้สนใจใช้งาน Project 14 ฟรีได้ที่ YouTube IPST Proj14 : http://: https://youtube.com/c/IPSTProj14
Facebook IPST Proj14 : https://www.facebook.com/ipstproj14
Website IPST Proj14 : https://proj14.ipst.ac.th