สสวท. ครบ 50 ปี ออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต พลิกโฉมการเรียนรู้วิทย์ คณิตและเทคโนโลยี ยุค New Normal เน้นฐานสมรรถนะของผู้เรียน

เนื่องด้วย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี  ในหัวข้อ Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต จัดระหว่างวันที่ 15 –  17 มกราคม 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) โดยภายในงานมีการบรรยายพิเศษและการเสวนาเจาะลึกทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต จากนักการศึกษา นักวิชาการ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำระดับประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับวันที่ 16 มกราคม 2565 ประกอบด้วยการบรรยายและเสวนาหัวข้อที่น่าสนใจ คือ 1) บรรยายพิเศษ เรื่อง Redesigning Future Education 2) เสวนาวิชาการ เรื่อง อยากเห็นการศึกษาไทยเป็นแบบใดในทศวรรษหน้า และ 3) เสวนาวิชาการ เรื่อง พลิกโฉมการเรียนรู้ SMT เพื่อการศึกษาฐานสมรรถนะ

โดยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. บรรยายพิเศษในกิจกรรมงานสถาปนาฯ เรื่อง Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต ซึ่งกล่าวว่า การศึกษาได้รับผลกระทบจากการที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดยุค New Normal ซึ่งแทนที่เด็กจะเรียนที่โรงเรียน แต่ครูและนักเรียนต้องเรียนรู้บนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

ด้วยเหตุนี้ สสวท. ได้ตระหนักถึงการเรียนรู้ของครูและนักเรียน จึงได้จัดทำและนำโครงการ Project 14 มาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิค -19 ซึ่งเดิมเป็นโครงการที่ สสวท. กำหนดเป้าหมายใช้จริงในอนาคต แต่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นฉับพลัน จึงได้เร่งพัฒนา Project 14 เพื่อให้ครูและนักเรียนได้ใช้งานทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลด้วย

Project 14 เป็นโครงการสอนออนไลน์ที่ สสวท. พัฒนาขึ้นโดยออกแบบให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในอนาคต                     ยุค New Normal ประกอบด้วยคลิปสั้นที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็ก เนื้อหาตรงตามหนังสือเรียน สสวท. และหลักสูตรตัวชี้วัด ครอบคลุมตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6  “สสวท. พัฒนารูปแบบการนำเสนอให้เข้าใจง่าย เพื่อให้เด็ก ๆ นำไปศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูสามารถใช้เพิ่มความรู้ของตนหรือนำไปปรับใช้สอนนักเรียนได้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็ใช้พร้อมกับลูกหลานเพื่อช่วยอธิบายเสริมความเข้าใจได้” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว

ทั้งนี้ จากคุณลักษณะตามเป้าหมายใหม่ของ OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา คือ การสร้างคนให้มีสมรรถนะ มีความรู้ มีทักษะ และเจตคติที่ดี ให้สามารถพึ่งพาตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งมีความแตกต่างจากระบบการศึกษาเดิมที่ให้ความสำคัญกับความรู้มากเกินไป ดังนั้น บทบาทของครูยุคใหม่จึงต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การสร้างคนให้มีทักษะและเจตคติที่ดี จัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย AI และ machine learning เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทางฐานสมรรถนะ ช่วยให้ครูปรับบทบาทเน้นส่งเสริมเด็กด้านทักษะและเจตคติที่ดี วิจัยรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายให้โรงเรียนนำไปใช้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ ได้อย่างผาสุก โดยจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างให้ผู้เรียนสามารถนำเอาความรู้และทักษะ ไปใช้ในชีวิตได้ด้วยเจตคติที่เหมาะสม อย่างเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ผู้เรียนแต่ละคนจะเก็บเกี่ยวความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณค่า จากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง นำมารวมกันเป็นสมรรถนะที่โดดเด่นและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมได้ตามศักยภาพและความถนัดของตนเองในอนาคต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สสวท. ได้วางแนวทาง 5 ประการ เรียกว่า IPST BIG 5 ดังนี้

1) การผลิตสื่อดิจิทัล โดยปรับเปลี่ยนจากเนื้อหาและสื่อกระดาษไปเป็นเนื้อหาในรูปแบบดิจิทัลที่มีความน่าสนใจ เพื่อให้ทั้งผู้เรียนและครูสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนรู้ได้

 2) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ไร้รอยต่อ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการจัดหาเนื้อหา หรือหัวข้อ การเรียนรู้ให้ตรงกับช่วงวัย ความต้องการ และสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับครู ผู้ปกครองและบุคคลทั่วไป ในการแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของประเทศ

3) การหนุนเสริมครู โดยจัดหลักสูตรการพัฒนาวิชาชีพครูยุคใหม่เพื่อสนับสนุนการปรับบทบาท “จากครูสู่การเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้” ให้เท่าทันกับรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป

4) รูปแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะที่หลากหลาย โดยนำร่องการพัฒนาในพื้นที่จริง เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ที่สถานศึกษาทั่วประเทศสามารถนำไปปรับใช้ได้ เน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการดำรง ชีวิตในโลกอนาคต  

 5) การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา/สื่อกระดาษไปเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจให้ผู้เรียนและครู สามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนรู้ได้

 สำหรับกิจกรรมงานวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี ในวันที่ 17 มกราคม 2565 จะประกอบด้วยการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจ ดังนี้ 1) การถ่ายทอดประสบการณ์แบ่งปันเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้  2) เสวนาวิชาการ เรื่อง ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในภาคการศึกษา 3) เสวนาวิชาการ เรื่อง ทิศทางการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในยุคไทยแลนด์ 4.0  และ 4) เสวนาวิชาการ หัวข้อ สมรรถนะที่สำคัญสำหรับอนาคต อีกด้วย

สสวท. ครบ 50 ปี มุ่งพัฒนาการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด “Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต”              

ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสด และคลิปย้อนหลังกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทาง Facebook: IPST Thailand  หรือ Youtube : IPST Channel และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Website : https://50th.ipst.ac.th/


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content