เจาะมิติออกแบบการศึกษาไทยกับ สสวท. 50 ปี สมรรถนะที่สำคัญสำหรับอนาคตสร้างคนเก่ง ปั้นคนแกร่ง แข่งขันทันโลก ด้วย “ฐานสมรรถนะ”

มองไกลถึงมิติอนาคต จากงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ สมรรถนะที่สำคัญสำหรับอนาคต จัดขึ้นในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครบ 50 ปี ภายใต้แนวคิด “Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต” วันที่ 17 มกราคม 2565 ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) จากทัศนะของ 4 ผู้นำด้านการศึกษาร่วมกันชี้ทิศทางพัฒนากำลังคนของไทย

 ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่าในอนาคตต้องเน้นให้คนได้เรียนรู้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างแตกต่างกัน โดยเจตคติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เพราะเป็นปัจจัยที่สร้างให้มีคุณธรรมนั่นคือ ความเคารพ เข้าใจผู้อื่น รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งวิธีการสร้างให้เกิดคุณลักษณะข้อนี้ได้จะแตกต่างจากข้ออื่น ๆ

 การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกทำให้การศึกษาต้องเปลี่ยนเป้าหมาย คือสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น โดยในคุณลักษณะทั้งสามประการควรให้ความสำคัญกับ เจตคติ (Attitude) เป็นอันดับแรก ตามด้วยทักษะ (Skill) และ ความรู้ (Knowledge) เป็นอันดับหลังสุด เพราะปัจจุบันเราสามารถหาความรู้ได้ทั่วไปจากอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ต้องเพิ่มการ up skill อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทักษะดิจิทัล การแปลข้อมูลที่ซับซ้อน และความสามารถในการปรับตัว  

เราต้องพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างคนให้มีความรู้ ยืดหยุ่น มีทักษะ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีเจตคติที่ดี มีคุณธรรม ความเคารพ เสียสละ รับผิดชอบ เพื่อก้าวสู่ความผาสุก (Well-Being) ตามเป้าหมายของ OECD

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สมรรถนะประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และเจตคติ กล่าวคือ มีความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มีทักษะความคิด วิพากษ์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีมได้ ส่วนเจตคติคือมีทัศนคติและอุปนิสัยใฝ่รู้ อดทน รับผิดชอบ คนที่มีสมรรถนะและอยู่รอดได้ในโลกอนาคตคือคนที่สามารถแก้ปัญหาเป็น และปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ คนเก่งเกิดจากการใช้ความพยายามและการเรียนรู้แล้วต่อยอดสร้างสรรค์ รู้ความเป็นไปของโลกและเทคโนโลยีที่พลิกผันตลอดเวลา

จากรายงานของ OECD ทำให้เห็นปัญหาของเด็กไทยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความสามารถในการอ่านที่ยังน่าเป็นห่วง ดังนั้นจึงต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอน วิธีการประเมินผล โดยเฉพาะวิธีการฝึกครูให้สอนนักเรียนให้มีสมรรถนะได้ รวมทั้งวัฒนธรรมในการจัดการศึกษา  การศึกษาใหม่ต้องปรับให้มีการเล่นมากขึ้น มีศิลปะ กีฬา ละคร ฝึกงานจากของจริง ส่งเสริมการทำโครงงาน และกิจกรรมนอกเวลา ตลอดจนปรับทัศนคติการศึกษาในโรงเรียนจากเดิม TOP – DOWN ให้ครูเรียนรู้ร่วมกัน ไม่มีการข่ม และสร้างแรงจูงใจให้เด็ก

วัฒนธรรมในการทำงานแตกต่างจากวัฒนธรรมการศึกษา เพราะในการทำงานเราได้ความรู้มาจากการลงมือทำจริงซึ่งเป็นเรื่องของการผสมผสานความสามารถ ในขณะที่วัฒนธรรมการศึกษายิ่งเรียนสูง ยิ่งรู้เฉพาะด้าน ในที่ทำงานเราลองผิดลองถูกได้ แต่วัฒนธรรมการศึกษาลองผิดไม่ได้  

หัวใจของการศึกษาฐานสมรรถนะคือสร้าง “วัฒนธรรม” ที่เอื้อให้คนเกิดสมรรถนะ ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมการศึกษาในปัจจุบัน

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม กล่าวว่า ในอนาคตคนที่จะอยู่รอดได้และประสบความสำเร็จต้องมีกรอบความคิด แบบพัฒนาได้ ตื่นตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ยึดติดหรือมั่นใจกับความสำเร็จเดิม ๆ ต้องพร้อมปรับตัวให้ทันรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้คนในโลกอนาคตจะติดต่อกันโดยผ่านการทำงานและมีการประชุมน้อยลง เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น วิถีการทำงานมีความยืดหยุ่น ไม่ต้องเข้าที่ทำงานทุกวัน ทำงานระดับปัจเจกเพิ่มขึ้นและมีอิสระในการทำงานโดยทำงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

เราได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันทักษะ Digital Literacy ได้รวมถึงการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล Culture Literacy วัฒนธรรม เพศสภาพและภาษา Learning Literacy การเรียนรู้นำสู่กลยุทธ์และวิธีการทำงานที่พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนต้องมี Ethical Literacy คือจริยธรรมอันเป็นกุญแจให้เกิดความร่วมมือพัฒนาการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฐานสมรรถนะ เป็นการเรียนรู้ที่ยึดโยงทุกส่วนเข้าด้วยกันทั้งหมด เรียนรู้ผ่านฐานประสบการณ์โดยไม่มองแยกส่วนเพราะเป็นการเกื้อกูลกัน ใช้ประสบการณ์ในการเรียนรู้  ใช้ความรู้ข้ามศาสตร์เชื่อมโยงกับมิติทางอารมณ์และสังคม ฉลาดเลือก เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม

การออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคต่อไปคือ ออกแบบนิเวศการศึกษาให้เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ ครูจะส่งผ่านความรู้ให้เด็กแบบเดิมอีกไม่ได้ ต้องส่งเสริมการเรียนรู้เกิดแบบธรรมชาติทั้งการเรียน onsite และ online มีความพร้อมในการเข้าถึงความรู้ ตอบโจทย์ความเข้าใจ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในวิถีชีวิตจริงจากการทำงาน สามารถลองผิด ลองถูกได้ และเรียนรู้ตลอดชีวิตจากการลงมือปฏิบัติ

คุณลักษณะที่ส่งเสริมการสร้างฐานสมรรถนะตอบโจทย์ของอนาคตคือ สร้างคนให้ตื่นตัวรับความท้าทายเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้  ล้มได้ก็ลุกได้ เข้าใจผู้อื่น ใฝ่เรียนรู้ และกำกับตนเองได้

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดและคลิปย้อนหลังกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทาง  Facebook : IPST Thailand หรือ Youtube : IPST Channel ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://50th.ipst.ac.th


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content