โครงการ GLOBE ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคประสานพลัง หนุนเยาวชนวิจัยวิทย์สิ่งแวดล้อม รักษาท้องถิ่นและธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การเรียนรู้และเข้าใจระบบสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยการลงมือปฏิบัติ เพื่อร่วมกันดูแล แก้ไข และรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โครงการ GLOBE ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA) ส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน ให้เข้าใจระบบสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ ร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค จนถึงระดับโลกอย่างยั่งยืน ได้จัดงาน 2022 GLOBE Asia-Pacific Virtual Regional Meeting ร่วมกับGLOBE Asia-Pacific Regional Coordination Office ประเทศอินเดีย และ GLOBE Implementation Office (GIO) ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 24 – 26 มกราคม 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งงานวิจัยของนักเรียนในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไทย ไต้หวัน เนปาล อินเดีย ฟิลลิปปินส์ เกาลีใต้  ศรีลังกา และออสเตรเลีย และมีผู้เข้าชมผ่าน Facebook LIVE ของ GLOBE Thailand กว่า 6,500 คน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดจากการขาดความเข้าใจในระบบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ทุกประเทศต้องเผชิญปัญหาและร่วมมือกันศึกษา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม การแพร่ระบาดของโรค การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ตามกิจกรรมโครงการ GLOBE ของเยาวชน ร่วมกับ ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน ทำให้เยาวชนเกิดความรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง  ของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในการเฝ้าระวังและร่วมกันลดต้นเหตุของสิ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)กล่าวว่า สสวท. ทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างประเทศของ GLOBE Program ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนตรวจวัดข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน อีกทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาของนักเรียนที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ในท้องถิ่นผ่านการทำงานวิจัย การมีส่วนร่วมในการดูแลและร่วมมือในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญของนักเรียน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของ สสวท. นักเรียนมีโอกาสเผยแพร่งานวิจัยของตนสู่เวทีระดับนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักเรียนไทยในเวทีระดับโลก ได้อย่างดียิ่ง

Dr. Tony Murphy, Director of GLOBE Implementation Office กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ประเทศสมาชิก GLOBE Program ทั่วโลกจึงร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน และชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม งานวิจัยระดับนักเรียนที่ร่วมแลกเปลี่ยนในการประชุมนี้ สามารถใช้หลักวิธีการตรวจวัดตามแนวทางของ GLOBE ได้อย่างหลากหลาย มีการนำเทคโนโลยี การออกแบบเชิงวิศวกรรมเข้ามาช่วยพัฒนางานวิจัยให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ STEM อย่างชัดเจน ท้ายที่สุด ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนักเรียนให้ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

Dr. Desh Bandu, President of Indian Environmental Society and Coordinator of GLOBE Asia-Pacific Regional Coordination Office กล่าวว่า ปีนี้เป็นการจัด GLOBE Asia-Pacific Regional Meeting ในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปทั่วโลก ขอบคุณ สสวท. ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานที่น่าประทับใจ ใช้เทคโนโลยีช่วยให้สมาชิก GLOBE นักวิทยาศาสตร์ ครู และนักเรียน สามารถเชี่ยมโยงถึงกันได้ตลอดเวลา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และประสบการณ์ในการดำเนินงานของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัยของตนเองสู่เวทีระดับนานาชาติ และ International Virtual Science Symposium (IVSS) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยของเยาวชนจากทั่วโลกในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการร่วมเป็นสมาชิกโครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โดยมี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยส่งเสริม่ให้โรงเรียนใช้กระบวนการสืบเสาะ    หาความรู้ในการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ตั้งคำถาม หาคำตอบด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 126 ประเทศจากทั่วโลก

ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/globethailand2015


ส่งข้อความถึงเรา
Skip to content